รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ (กพอ.) ครั้งที่ 5/2563

รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ (กพอ.) ครั้งที่ 5/2563

อัปเดตล่าสุด 18 ธ.ค. 2563
  • Share :
  • 501 Reads   

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 

1. พัฒนาโครงข่าย 5G และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ที่ประชุม กพอ. พิจารณา แนวทางการดำเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G ให้เกิดการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่ อีอีซี โดยมีแนวทาง ดังนี้ 
 
(1.) สร้างผู้ใช้ 5G อย่างเป็นระบบ ผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐใช้เทคโนโลยี 5G ในโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เขตส่งเสริมอีอีซี ประมาณ 10,000 แห่ง โรงแรมทั้งหมดในอีอีซี ประมาณ 300 แห่ง หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเอสเอ็มอี โดยได้จัดทำโครงการนำร่องพัฒนาระบบ 5G เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน เริ่มตั้งแต่ บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ เสริมความมั่นคง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เสริมโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเสริมประสิทธิภาพอุตสาหกรรม และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อให้ชุมชนได้เริ่มทดลองใช้ระบบ 5G 

(2.) เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูล ผลักดันให้ภาคเอกชนและภาครัฐ จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ ในพื้นที่ อีอีซี โดยให้ EECd เป็นจุดติดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) นอกจากนี้ วางแนวทางและปรับข้อกฎหมาย นำข้อมูลคลาวด์ภาครัฐ และคลาวด์ภาคเอกชน เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้มาจัดทำข้อมูลกลาง เพื่อธุรกิจในอนาคต (Common Data Lake) เพื่อให้ภาคธุรกิจ และกลุ่มสตาร์ทอัพ นำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ เช่น E-Commerce การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการแพทย์ 

(3.) พัฒนาบุคลากรดิจิทัล ผลักดันเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากร ที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New) จำนวน 100,000 คน 

นอกจากนี้ ได้ปรับแนวทางการดำเนินโครงการ EECd ให้เป็นกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาโครงข่าย 5G ซึ่งวิธีการพัฒนาจะเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีประสบการณ์ จัดตั้งเขตนวัตกรรมดิจิทัลในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน และสหภาพยุโรป โดย สกพอ. เป็นเจ้าภาพ 

2. มูลค่าการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ประชุม กพอ. รับทราบ การขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ช่วง 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย. 2563) มีทั้งสิ้น 387 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 1.28 แสนล้านบาท เทียบเท่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 76,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี โดยนักลงทุนที่สนใจจะลงทุน ขณะนี้ บีโอไอ ได้ประสานกระทรวงต่างประเทศ ทดลองผ่อนผันการกักตัวผู้เดินทาง
เข้าประเทศ เพื่อความสะดวกและเป็นแรงจูงใจ ให้กับนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในอีอีซี 

3. พัฒนาแผนเกษตรในอีอีซี ยกระดับ ภาคการเกษตรให้มีรายได้ ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม ที่ประชุม กพอ. รับทราบความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยแผนเกษตรในอีอีซีใช้ความต้องการตลาดนำ (Demand Pull) เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้าตรงความต้องการ ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) ให้สินค้าเกษตร มีคุณภาพดี ราคาสูง ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชชีวภาพ พืชสมุนไพร ปศุสัตว์ เพื่อยกระดับการผลิตตรงความต้องการ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้แผนฯ เป็นกรอบในการขอรับงบประมาณปี 2565 เป้าหมายหลัก ต้องการยกระดับภาคเกษตร ใช้เทคโนโลยีนำการผลิต สินค้าตรงตามความต้องการของตลาด เพิ่มรายได้ภาคเกษตร ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม

 

อ่านต่อ: