ก.อุตฯ เปิดงานประจำปี OIE Forum 2020 ชูแนวทางพลิกวิกฤตอุตสาหกรรมสู่ความเชื่อมั่นประเทศไทย

OIE Forum 2020 ชูแนวทางพลิกวิกฤตอุตสาหกรรมสู่ความเชื่อมั่นประเทศไทย

อัปเดตล่าสุด 26 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 693 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ​จัดงาน OIE Forum 2020 New Perspective of Thailand Industry “มองมุมกลับ ปรับมุมคิด พลิกวิกฤตอุตสาหกรรมไทย” ชูอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มุมมองใหม่ของอุตสาหกรรมไทยหลังสถานการณ์โควิด-19” ในงานประจำปี สศอ. ภายใต้ชื่อ OIE Forum 2020 New Perspective of Thailand Industry “มองมุมกลับ ปรับมุมคิด พลิกวิกฤตอุตสาหกรรมไทย” โดยมีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานคับคั่ง ณ ภิรัช คอนเวนชั่น เช็นเตอร์ ศูนย์ประชุมฯ ไบเทค โดยปีนี้เปิดให้ชมผ่านระบบออนไลน์ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างดี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานประจำปี OIE Forum ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่าที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของไทยมีทิศทางการเติบโตที่ค่อนข้างดี แต่ปีที่แล้วเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ตามมาด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมการบริการและการผลิตในสาขาต่าง ๆ รวมไปถึงภาคการค้าการลงทุน แต่จากการบริหารจัดการที่เข้มแข็งทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ อีกทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญได้แก่ มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศและท้องถิ่น กระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่การผลิต ที่พึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าศักยภาพที่สร้างสายการผลิตและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในประเทศ รวมทั้งเร่งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย โดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ด้วยการนำงานวิจัยมาต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบสมองกลฝังตัวเชื่อมโยงกับระบบเครือข่าย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ New Normal อย่างกลุ่ม Medical Service Robot หรือกลุ่ม Smart Farming ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าให้กับผู้บริโภค ด้วยการพัฒนาและยกระดับด้านระบบมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารและการวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการ ควบคู่กับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดการสูญเสียระหว่างการขนส่ง สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสิ่งทอทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย, ชุด PPE ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสทางการตลาด ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าวัตถุดิบและการชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ให้มีการพัฒนาด้าน Supply Chain Management และการตลาดออนไลน์ในรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ต้องมีการปรับตัวทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรับรองมาตรฐานและการตลาด ด้วยการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเพียงพอโดยมีตลาดภายในประเทศรองรับ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศได้ด้วย

“ผมได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานใน อก. เดินหน้าผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญเหล่านี้  เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและขับเคลื่อนให้เกิดผลโดยเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพในสาขา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งเร่งผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาอื่น ๆ เพื่อขยายผลการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมเช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเมกะโปรเจกต์ เช่น อุตสาหกรรมระบบราง เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในสนามบินและท่าเรือ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ก่อสร้าง และธุรกิจดิจิทัล ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการปฏิรูปไปสู่ Smart Government โดยเร่งนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ” นายสุริยะกล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ สศอ. เร่งรัดดำเนินการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในหลายมิติเพื่อรองรับการปรับตัวสู่ฐานวิถีใหม่หรือ New Normal อาทิเช่น การขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งนอกจากการดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมในหลายเรื่องไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในวงกว้างแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึก การจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมและระบบเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบ Big Data ของกระทรวงอุตสาหกรรม และการเป็นองค์กร Smart Government ที่พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อไป

 

อ่านต่อ: