นักวิชาการพีบีไอซีแนะ 5 เรื่องต้องรู้ เตรียมรับคลื่นการลงทุนปี 62

อัปเดตล่าสุด 3 ม.ค. 2562
  • Share :

นักวิชาการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) ชี้แนวโน้มการลงทุนของต่างชาติในปีนี้ หลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นจากผลพวงของสงครามการค้าจีน สหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างชาติจำนวนมากย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น รับโอกาสการกระจายรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย พร้อมแนะ 5 เรื่องที่คนไทยต้องรู้ รองรับโอกาสทองในปีหน้า 
 
ดร.มณฑินี ธีระมังคลานนท์ อาจารย์ประจำหลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ เป็นหนึ่งในความท้าทายหลักของนักเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว นำมาซึ่งการพัฒนาผลงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ จากข้อมูลงานวิจัย “ผลกระทบของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในประเทศไทย” พบว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) คือปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทยมากขึ้น และมีผลอย่างยิ่งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือจากเงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามาจากต่างชาติแล้ว ผลพลอยที่ได้ของเอฟดีไอ ก็คือการเสริมสร้างโอกาสในการทำงาน อีกทั้งการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากประเทศที่เข้ามาลงทุน ดังนั้นประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าในการต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ก็มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ ทั้งนี้จากรายงานการลงทุนโลก ประจำปี 2561 พบว่าเอฟดีไอ ที่เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแตะ 400% เป็นผลจากการลงทุนที่เข้ามาเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน อีกทั้งมีแนวโน้มที่การลงทุนยังคงหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในปีถัดไป จากผลกระทบของสงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น
 

ดร.มณฑินี กล่าวเพิ่มว่า เนื่องในโอกาสของเอฟดีไอที่มีแนวโน้มหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นในปี 2562 ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยควรเรียนรู้ความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการรับมือการเข้ามาของทุนจากต่างประเทศอย่างเหมาะสม ที่จะทำให้ประเทศไทยคว้าโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น นำมาซึ่งการกระจายรายได้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วยปัจจัย 5 ข้อ ดังนี้

  1. จับตาผลเทรดวอร์ พร้อมรองรับโอกาสครั้งใหญ่ สงครามการค้า และการตั้งกำแพงภาษีระหว่างจีนและสหรัฐฯ อันดุเดือดตลอดทั้งปี ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหันมาสนใจการลงทุนในตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี สงครามการค้าที่ยืดเยื้อก็มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง หลังการเจรจาสงบศึกทางการค้าในเวทีการประชุมจี 20 ที่เพิ่งผ่านมา ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยจึงควรจับตาผลการเจรจา และท่าทีของทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับนโยบายการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาหลังการเจรจา
  2. ภาคบริการไทย ถูกใจทุนต่างชาติ ในบรรดาภาคการลงทุนของไทยทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคบริการ ส่วนที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้สูงสุด และยังเป็นที่หมายตาของนักลงทุนต่างชาติก็คือภาคบริการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยและที่ผ่านมาสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อย่างมหาศาล สิ่งที่ภาครัฐควรทำก็คือ เร่งสร้างแรงงานเพื่อตอบสนองการลงทุนจากต่างประเทศในภาคบริการ ผ่านการอบรมด้านวิชาชีพ หรือส่งเสริมการศึกษาที่สนับสนุนงานภาคบริการ อันเป็นการคว้าโอกาสที่ถูกทางจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาในอนาคต
  3. ซึมซับเทคโนโลยีต่างชาติ พัฒนาธุรกิจไทย แนวโน้มเอฟดีไอที่จะไหลเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้นในปีหน้า ไม่ได้นำพาเม็ดเงินเข้ามาในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังจะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมตใหม่ๆ เข้ามายังประเทศไทยด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะเรียนรู้และซึมซับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการไทย ลดต้นทุนและเวลาในการผลิต อีกทั้งเกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
  4. โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นสูง ขานรับการลงทุนธุรกิจใหม่ การลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้ว การรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคที่มากกว่าขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบการผลิตและระบบจำหน่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ งานก่อสร้างโรงงานและระบบสาธารณูปโภคในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการอีอีซี เป็นต้น หากไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคเหล่านี้ได้ทันท่วงที ก็มีโอกาสมากกว่าที่จะตอบสนองการลงทุนมูลค่ามหาศาลที่จะเข้ามาในอนาคต
  5. รู้เขารู้เรา เอาใจนักลงทุน สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติพิจารณาก่อนตัดสินใจทุ่มการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยความพร้อมทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่สิ่งที่นักลงทุนพิจารณามากไปกว่านั้นก็คือความรู้และความเข้าใจของประเทศเจ้าบ้าน ตลอดจนบริบทและวัฒนธรรมทางการค้าของประเทศผู้มาลงทุน เช่น ภาษา วัฒนธรรม ระเบียบ และการเจรจาทางการค้าของประเทศนั้นๆ เป็นต้น ยิ่งประเทศไทยมีความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ก็จะเป็นข้อได้เปรียบที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศไว้ในประเทศไทยได้ในระยะยาว

 
นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทยมากขึ้นคือการขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย ความรู้ ทักษะและความสามารถเฉพาะตัว อันเป็นทรัพย์สินติดตัวที่เป็นบันไดไปสู่โอกาสในการทำงานที่มากกว่า การศึกษาหรือการเสริมสร้างทุนมนุษย์จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น อีกทั้งการเข้ามาของเอฟดีไอ ยังต้องการแรงงานทักษะ หรือทุนมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ และโอกาสใหม่ ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาในอนาคต สำหรับปี 2562 ไทยยังคงต้องเร่งผลิตทุนมนุษย์ตอบสนองความต้องการแรงงานจากการลงทุนของต่างชาติ ทั้งในภาคบริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งต้องการแรงงานที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน รวมทั้งความสามารถปรับตัวในการทำงาน และการประยุกต์ความรู้เพื่อใช้งานอย่างกว้างขวางอีกด้วย ดร. มณฑินี กล่าวทิ้งท้าย
 
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า พีบีไอซีเป็นวิทยาลัยนานาชาติด้านสังคมศาสตร์ที่โดดเด่นด้วยเน้นการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ ทั้งด้านสังคมวิทยา การเมืองการปกครอง ภาษา วัฒนธรรม การทำความเข้าใจในศิลปะ บูรณาการเข้ากับการเรียนรู้ “ศาสตร์” ด้านการจัดการ การใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งกลไกทางเศรษฐกิจและการจัดระบบความคิด ซึ่งการเรียนสังคมศาสตร์ในแบบบูรณาการจะมีส่วนเสริมสร้างทุนมนุษย์ให้มีทักษะรอบด้านพร้อมสำหรับโลกการทำงานในยุคปัจจุบัน อีกทั้งตอบโจทย์การหลั่งไหลเข้ามาของเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ผ่านการเรียนแบบเจาะลึกในอาณาบริเวณศึกษาทั้งจีน อินเดีย และไทย ซึ่งเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจในปีถัดไป