10 ค่ายเด้งรับรถยนต์ไฟฟ้า “บีโอไอ” เคาะไฮบริด 5 หมื่นล้าน

อัปเดตล่าสุด 31 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 877 Reads   

10 ค่ายรถดาหน้ายื่นขอส่งเสริมลงทุน “ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, อีวี” มูลค่าเฉียดแสนล้าน บีโอไออนุมัติแล้ว 4 ราย กว่า 5 หมื่นล้าน บิ๊กโตโยต้ากวาดลูกค้าแล้ว 2 รุ่น ฮอนด้าจ้องคลอดแอคคอร์ดมกราคมนี้ ขณะที่ “เบนซ์ อีคิวซี-นิสสัน ลีฟ” ลุยปลุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว
 
ความคืบหน้าโปรเจ็กต์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ตามประเภทของรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ คือ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (hybrid electric vehicle : HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (plug-in hybrid electric vehicle : PHEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicle : BEV) โดยมีแพ็กเกจด้านภาษีสรรพสามิตสนับสนุนคิดในอัตรา 50% สำหรับสองแบบแรก และอัตรา 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ประกาศไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 2560 ซึ่งกำหนดระยะเวลาการยื่นรับส่งเสริม กลุ่มไฮบริดสิ้นสุด 31 ธันวาคม ปี 2560 และในส่วนของปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีค่ายรถยนต์จำนวนมากกว่า 10 ราย รวมถึงค่ายชิ้นส่วนทยอยยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กันอย่างคึกคัก รวมมูลค่าทั้งหมดเฉียดแสนล้านบาท

 

 

4 ค่ายฉลุยปั๊มไฮบริด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติไปทั้งสิ้น 4 ราย มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ค่ายแรก ได้แก่ ค่ายโตโยต้า อนุมัติเดือนกรกฎาคม ปี 2560 มีกำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปีละประมาณ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ประตู, กันชน, เพลาหน้า-หลัง อื่น ๆ ปีละประมาณ 9,100,000 ชิ้น ภายใต้งบประมาณการลงทุนมูลค่า 19,016 ล้านบาท โครงการมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,314 ล้านบาทต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ถัดมาเป็นค่ายนิสสัน มูลค่าโครงการ 10,960 ล้านบาท ใช้โรงงานประกอบรถยนต์นิสสัน บางนา-ตราด กม.21 ตามมาด้วย ฮอนด้า ใช้โรงงานในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี มูลค่า 5,821 ล้านบาท รวมซัพพลายเออร์อีก 1.8 หมื่นล้านบาท โดยได้รับอนุมัติเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2561 และรายล่าสุด มาสด้า ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) โรงงานผลิตรถยนต์มาสด้า ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 11,481.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง และยังมีโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ โครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 19,461 ล้านบาทต่อปี

โตโยต้าสองเด้งได้สิทธิ์อีอีซีเพิ่ม

แหล่งข่าวจากฝ่ายบริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากได้รับการส่งเสริมในกิจการกลุ่มรถยนต์ไฮบริด ตอนนี้โตโยต้าได้ใช้สิทธิ์กับรถยนต์ 2 รุ่น ได้แก่ โตโยต้าซี-เอชอาร์ เอสยูวีไซซ์กลาง ขนาดเครื่อง 1.8 ลิตร ผสมกับมอเตอร์ไฟฟ้า และโตโยต้า คัมรี เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า และบริษัทยังได้ขอยื่นขอรับส่งเสริมเพิ่มเติมในกลุ่มรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด รวมทั้งขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในพื้นที่ของโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีเนื้อที่ 1,640 ไร่ ตามมีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และสามารถขยายกำลังการผลิตได้อีก 1 เท่าตัวจากปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพียง 287 ไร่ หรือ 18% ของพื้นที่ทั้งหมด

ขณะที่สายการผลิตที่มีอยู่ใช้กำลังการผลิตไปเพียง 44% จากกำลังผลิตทั้งหมดที่ 100,000 คันต่อปี ซึ่งบริษัทต้องการต่อยอดและใช้เป็นฐานการลงทุนไปสู่การผลิตรถยนต์สมัยใหม่และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงตั้งโรงงานผลิตกำจัดแบตเตอรี่ โครงการ Rebuilt Reuse Recycle หรือ 3Rs เพื่อนำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ราวกลางปี 2562 นี้ จึงขอรับสิทธิประโยชน์จากพื้นที่โรงงานที่ตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี)

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ดใหม่ ในโปรเจ็กต์ที่ได้การสนับสนุน ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2562 นี้ ส่วนการยอมรับของรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวีนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับราคาจำหน่ายเป็นสำคัญ

ค่ายยุโรปพุ่งเป้าปลั๊ก-อิน/อีวี

ขณะที่ปลั๊ก-อิน ไฮบริด มีค่ายยุโรป ได้รับอนุมัติ 2 ราย คือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท รวมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ที่จังหวัดสมุทรปราการ อนุมัติเดือนมีนาคมปี 2561 และค่ายบีเอ็มดับเบิลยู มูลค่าโครงการ 705 ล้านบาท และโรงงานแบตเตอรี่อีก 400 ล้านบาท ที่จังหวัดระยอง อนุมัติเดือนกรกฎาคมปี 2561

นายโรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมเซอร์เดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวมั่นใจว่า อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะได้การตอบรับจากกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย โดยในปี 2562 นี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์พร้อมแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า รุ่นอีคิวซี (EQC) เข้ามาทำตลาดในไทย ขณะที่ความคืบหน้าโรงงานแบตเตอรี่ก็พร้อมผลิตป้อนรถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ภายในปีนี้เช่นกัน

“ตอนนี้เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้ระดับหนึ่งแล้ว มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นกว่า 200 จุด ครอบคลุมทั้งผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้ง 32 แห่งทั่วประเทศ โรงแรม และศูนย์การค้าชั้นนำทั่วไป”

ด้านนายคริสเตียน วิดมานน์ ประธานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าหลังได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานบีโอไอ ว่า จะเริ่มสายการประกอบในปี พ.ศ. 2562 ที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2 โดยบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย และแดร็คเซิลไมเออร์ กรุ๊ป ได้ร่วมกันวางรากฐานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานประกอบชิ้นส่วน ไม่ต่างจาก นายแกร์ฮาร์ด แอร์เนสแบร์เกอร์ ผู้อำนวยการโรงงานแดร็คเซิล

ไมเออร์ กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อสร้างเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และในภูมิภาคนี้ โดยแบตเตอรี่แรงดันสูงดังกล่าวจะถูกส่งไปยังโรงงานบีเอ็มดับเบิลยูที่ระยอง เพื่อนำไปติดตั้งในรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ในตระกูลบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 5, 7 และเอ็กซ์ 5 โดยจะเริ่มต้นเฟสแรกตั้งแต่ปี 2562

มิตซูบิชิขอแจม PHEV

นายโมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวยืนยันว่า ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ตามกำหนดของรัฐบาล ภายในวันที่ 28 ธ.ค. 2561 อย่างแน่นอน โดยก่อนหน้านี้ นายโอซามุ มาสุโกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส

คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ตอบตกลงกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ มิตซูบิชิมีสินค้าอยู่ 1 รุ่น ที่ออกจำหน่ายและได้รับความนิยม คือ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์

“เราเชื่อว่ารถปลั๊ก-อิน ไฮบริด จะมีโอกาสเกิดและมาก่อนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีสาธารณูปโภครองรับที่เพียงพอก่อน แต่การจะก้าวไปที่รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดนั้นก็ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับมิตซิบิชิ ประเทศไทย”

นิสสันพร้อมลุยเพียวอีวี

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังกล่าวเสริมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นิสสันเป็นอีกหนึ่งค่ายที่สนใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในแพ็กเกจรถอีวี หลังจากก่อนหน้านี้ นิสสันตั้งใจนำเสนอเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ เข้าในแพ็กเกจรถอีวี แต่ไม่สำเร็จ โดยได้รับสิทธิ์เพียงแค่กลุ่มไฮบริดเท่านั้น ขอรับสิทธิ์เอารถยนต์ไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ เข้ามาทำตลาดล่วงหน้าก่อน จำหน่ายในราคา 1.9 ล้านบาท เปิดตัวไปในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป

ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กลุ่มรถไฮบริดซึ่งสิ้นสุด กรอบระยะเวลาการยื่นไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 5 ค่าย ถึงวันนี้ได้รับการอนุมัติไปแล้ว 4 ค่าย ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, มาสด้า มีเพียงซูซูกิเพียงค่ายเดียวซึ่งยังไม่ผ่านการอนุมัติ แต่ก็เชื่อว่าอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกัน