กนอ. เผยยอดขายที่ดินนิคมฯ ใน EEC ปี’62 แตะ 1,900 ไร่

อัปเดตล่าสุด 13 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 749 Reads   

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มขึ้น 98% แตะ 1,900 ไร่ หลังมีการเซ็นสัญญาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน
         
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมแสดงความสนใจที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จำนวน 18 โครงการ พื้นที่ราว 35,000 ไร่ หลังมีความเชื่อมั่นการลงทุนจากการประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)   

ส่วนยอดขายหรือเช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ในปีงบประมาณ 2562 มีจำนวน 93 ราย ลดลงจากปีก่อน 13% มีพื้นที่ 2,183 ไร่ สูงกว่าปีก่อน 59% แบ่งเป็นพื้นที่ EEC จำนวน 1,963 ไร่ เพิ่มขึ้น 98% นอกพื้นที่ EEC จำนวน 219 ไร่ ลดลง 43% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมยางและพลาสติก อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ประเทศที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 62 มีผู้ประกอบการลงทุนในนิคมฯ ทั้งหมด 30,527 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 5,512 คน เพิ่มขึ้น 60% และมียอดขายหรือเช่าที่ดินเพิ่มขึ้น 807 ไร่ จาก 1,376 ไร่ เป็น 2,183 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 59%

ส่วนทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 กนอ. ตั้งเป้าขายหรือเช่าที่ดินในนิคมฯ ของ กนอ. จะขยายตัวจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 5% เพราะมีปัจจัยบวกจากการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ที่คืบหน้ามากขึ้น ทั้งโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งดึงดูดการลงทุนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรณีบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ เตรียมปรับขึ้นค่าน้ำ ผู้ว่าการ กนอ. คาดว่าจะทำให้ค่าน้ำสูงขึ้นประมาณ 10-15% แต่ค่าน้ำของไทยยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ขณะเดียวกันต้นทุนค่าน้ำคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก อย่างไรก็ตาม กนอ. ได้สนับสนุนให้ทุกนิคมฯ ลงทุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีกลับมาใช้ใหม่ ไม่ต่ำกว่า 20% และคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นิคมฯ ใช้น้ำอย่างประหยัดมากขึ้น


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th