รายงานผลกระทบไต้ฝุ่นหมายเลข 21 ต่อผู้ผลิตญี่ปุ่น

อัปเดตล่าสุด 7 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 331 Reads   

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 จังหวัดทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเผชิญหน้าพายุไต้ฝุ่นกำลังแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ซึ่งทางการญี่ปุ่นระบุว่า พายุไต้ฝุ่นเชบีได้พัดเข้าจังหวัดญี่ปุ่นทางตอนใต้ ในจังหวัดโทกุชิมะในช่วงบ่ายของวันที่ 4 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นญี่ปุ่น ถือเป็นไต้ฝุ่นที่กำลังแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1993 
พายุไต้ฝุ่นหมายเลข 21 มีกำลังแรงถึง 140 กิโลเมตร/ชม. และก่อให้เกิดลมกรรโชกแรงถึง 165 กิโลเมตร/ชม. ซึ่งจัดว่าเป็นระดับ 1 ของพายุเฮอร์ริเคนแอตแลนติก  สำนักข่าว Nikkan Kogyo Shimbun ที่ญี่ปุ่นได้รายงานถึงผลกระทบของ 14 บริษัทญี่ปุ่น จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงในครั้งนี้
 

รายงานผลกระทบไต้ฝุ่นหมายเลข 21 ต่อผู้ผลิตญี่ปุ่น
Mitsubishi Electric
ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซหยุดให้บริการ ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดัคเตอร์ และโมดูล LCD ได้ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาส่งออกผ่านช่องทางอื่นแทน ส่วนโรงงาน 10 แห่ง ซึ่งหยุดการผลิตในช่วงวันที่ 4 ได้กลับมาดำเนินการผลิตในวันที่ 5 และปัจจุบันไม่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตแต่อย่างใด

Panasonic
พิจารณาเปลี่ยนไปใช้ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ และท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะฮาเนะดะ แทนท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ ในการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตัวต้านทาน คอนเดนเซอร์ และอื่น ๆ ไปยังประเทศจีน และประเทศไทย และการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งปัจจุบันปริมาณการส่งออกของบริษัทได้ลดลงไปมากกว่า 20%

Hitachi Zosen
ผู้ผลิตระบบบำบัด โรงงาน และ Precision Machinery ซึ่งโรงงานซะไค และโรงงานชิคโค ได้หยุดการผลิตในวันที่ 5 เนื่องจากการหยุดการคมนาคม ก่อนกลับมาทำการผลิตในวันที่ 6

SAKAI CHEMICAL INDUSTRY
โรงงานซะไค และโรงงานเซ็นโบคุ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสารเคมีสำหรับงานอุตสาหกรรม ได้รับความเสียหายในส่วนของกำแพง เพดาน และท่อภายในโรงงาน ซึ่งความเสียหายนี้ไม่มีผลต่อความสามารถในการผลิตมากนัก โดยได้หยุดการผลิตชั่วคราวในคืนวันที่ 5 ก่อนกลับมาเริ่มทำการผลิตบางส่วนในวันเดียวกัน โดนตั้งเป้ากลับมาผลิตเต็มกำลังภายใน 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ได้ประสบปัญหาความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า เนื่องจากสินค้าส่วนมากขนส่งโดยรถบรรทุก

Kurimoto
ผู้ผลิตเครื่องขึ้นรูปโลหะ พลาสติก และระบบพลังงาน ได้หยุดการผลิตในวันที่ 5 เพื่อตรวจสอบความเสียหายของโรงงานซะไค และโรงงานสุมิโยชิ โดยไม่พบความเสียหายของเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องในการผลิตเสียหายแต่อย่างใด

ShinMaywa
ผู้ผลิตอากาศยาน รถบรรทุกสั่งทำพิเศษ Surface Treatment Machine และอื่น ๆ พบว่ามีอาคารบางส่วนของโรงงานโคนันซึ่งรับผิดชอบการผลิตอากาศยานถูกน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหาย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะยืนยันผลกระทบที่มีต่อการผลิตได้

Daiichi Sankyo
ผู้ผลิตยารักษาโรค ได้รับความเสียหายในส่วนของรั้วและหลังคาโรงงานทาคะซึกิส่งผลให้หยุดการผลิต และคาดว่าจะกลับมาผลิตได้ในวันที่ 10 

TOYO METAL TREATING CORPORATION
ธุรกิจแปรรูปโลหะและ Heat Treatment กลับมาทำการผลิตได้ตั้งแต่เวลา 10 น. ของวันที่ 6 ซึ่งเตาหลอมได้หยุดทำงานไปเพราะไฟฟ้าขัดข้อง และกำลังอยู่ระหว่างกลับมาเริ่มทำงานทีละส่วน ซึ่งปัจจุบันคอมพิวเตอร์ภายในโรงงานทำงานได้ด้วยการปั่นไฟเอง

KOIZUMI JUTE MILLS
โรงงานคิชิวาดะซึ่งรับผิดชอบการผลิตสิ่งทอได้รับความเสียหาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาความเสียหายของอุปกรณ์ในโรงงาน

TOA SEIKEI
ผู้ผลิตแม่พิมพ์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สำหรับงาน Mold & Die ได้รับความเสียหายในส่วนของเพดานโรงงานหลัก ซึ่งประธานบริษัทกล่าวว่า “จะปรับการทำงานให้ชดเชยวันที่หยุดไปเพราะไฟฟ้าขัดข้อง” 

ASAHI SEIKO
ผู้ผลิต Bearing และ LM Guide โรงงานและอาคารสำนักงานหลักเกิดไฟฟ้าขัดข้อง ซึ่งฟื้นฟูกลับมาได้เพียง 70% เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถผลิตด้วยอัตราตามปกติได้ คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 12 นอกจากนี้ เพดานและพัดลมระบายอากาศยังได้รับความเสียหายอีกด้วย

Miyajima
ไม่ได้รับความเสียหายในส่วนการผลิต Shaft สำหรับเครื่องจักรก่อสร้างและเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม ราว 25% ของแผงโซล่าเซลล์ได้รับความเสียหาย

Nakahara Chemical Product Industry
โรงงานแปรรูปเรซิ่นได้รับความเสียหายในส่วนของชัตเตอร์ทางเข้าออก แต่กลับมาทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 5

Hardlock Industry 
ไม่สามารถส่งออกชิ้นส่วนได้ อย่างไรก็ตาม ได้ทำเรื่องขอส่งออกน็อตผ่านท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะแทนเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ประเภทน็อตสำหรับรางรถไฟส่วนหนึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

Sanko-Giken
คลังสินค้า Power Semiconductor ได้รับความเสียหายจากพายุ ทำให้การขนส่งซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสดำเนินการได้ยาก อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้มีแผนเร่งผลิตล่วงหน้า เพื่อให้สามารถจัดส่งได้ทันตามตารางเดิม