048-โรงงาน-EEC-ค่าน้ำ-กนอ

รง.อีอีซีกุมขมับจ่ายค่าน้ำพุ่ง ค่าบำบัดน้ำคลองชากหมากประทังภัยแล้ง

อัปเดตล่าสุด 10 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 827 Reads   

โรงงานอีอีซีกุมขมับจ่ายค่าน้ำเพิ่ม 72 บาท/ลบ.ม. ไม่ใช่สมาชิกแพงกว่าสมาชิก 70 บาท “กนอ.-อีสท์วอเตอร์” งัดแผนบำบัดน้ำเสียดึงน้ำจากคลองชากหมาก จ.ระยอง ผลิตน้ำกว่า 14,000 ลบ.ม./วัน เอกชนหวั่นต้นทุนทุกอย่างเพิ่ม ด้าน “อีสท์วอเตอร์” เบรกขึ้นค่าน้ำ มุ่งเตรียมแผนสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงช่วยหลังน้ำต้นทุน 350,000 ล้าน ลบ. ใกล้หมดเดือน มิ.ย.นี้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่ในขั้นรุนแรง ที่มีน้ำต้นทุนปัจจุบันอยู่ที่ 350,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเพียงพอใช้ถึงเดือน มิ.ย. 2563 นี้เท่านั้น ดังนั้น กนอ.จึงกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วน โดยการเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม โดยการนำน้ำจากคลองชากหมากมา จ. ระยอง ผ่านวิธีการบำบัด (waste water reverse osmosis : WWRO) สามารถผลิตน้ำได้ประมาณ 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมโครงการจะจ่ายค่าน้ำเพิ่มในส่วนนี้เพียงหน่วยละ 2.76 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่หากมีผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เข้าร่วมกับโครงการ ต้องการใช้น้ำจากมาตรการนี้ สามารถขอรับน้ำได้ในราคาต้นทุนอยู่ที่ 72 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

“เอกชนที่เข้าโครงการเขาต้องลงทุนประมาณ 4-5 ล้านบาท จึงจ่ายค่าน้ำในราคาเพียง 2.76 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนโรงงานที่ไม่เข้าร่วมโครงการเขาไม่ต้องลงทุน เขาจึงต้องจ่ายซื้อค่าน้ำส่วนนี้แพงกว่า”

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มน้ำต้นทุนอีก คือ ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกดเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเดือน มี.ค. 2563, การใช้ระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อผันน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำประแสร์, การปรับปรุงคลองน้ำแดง เพื่อเพิ่มศักยภาพการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และปรับปรุงสถานีสูบน้ำวัดละหารไร่ เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำระยองมาอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้กำชับถึงการแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งใน EEC และขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดการใช้น้ำลง 10% รวมถึงตั้งคณะทำงานขึ้น 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม แม้โรงงานเหล่านี้จะไม่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่ใช้น้ำบาดาลอยู่แล้วนั้น แต่ในอนาคตยังคงมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ 2.คณะอนุกรรมการชุดที่ดูแลเรื่องน้ำที่ใช้ในนิคมอุตสาหกรรม 

ส่วนมาตรการระยะยาวภายหลังสิ้นสุดฤดูแล้ง จะพัฒนาลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี โดยการกักเก็บน้ำเพิ่มเติมใน 4 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้น 308 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดแล้วเสร็จได้ภายในเวลา 1 ปี 

ตัวแทนจากสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า แผนน้ำของภาครัฐในระยะเร่งด่วนสามารถช่วยให้เอกชนคลายความกังวลลง และมั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอ แต่สำหรับการต้องลงทุนเพื่อเข้าโครงการและซื้อค่าน้ำเพิ่ม ถือว่าเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับโรงงาน รายที่เข้าโครงการแม้จะซื้ออัตราหน่วยที่ราคาถูก แต่ลงทุนก็ราคาสูง รายที่ไม่เข้าโครงการต้องจ่ายถึง 72บาท/ลูกบาศก์เมตร 

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า ภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐต่อเนื่อง ซึ่งน้ำขณะนี้มีสำรองจาก 4 บ่อปริมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ใน จ.ชลบุรี อีก 2 บ่อมีปริมาณน้ำ 29-30 ล้านลูกบาศก์เมตร และอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อน้ำเพิ่มอีก 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้มีน้ำสำรองตลอดทั้งปี 

“ในระยะสั้นนี้หลังเดือน มิ.ย. เราเตรียมแผนดึงน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาช่วยก่อน คาดว่าจะสูบน้ำได้ 300,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน การทรีตน้ำกลับมาใช้ใหม่อีก 24,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ในระยะยาวมีโครงการเชื่อมท่อส่งน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี เชื่อมมาภาคตะวันออกอีกกว่า 308 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแผนทั้งหมดคาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 10-20% และยังไม่มีแผนขึ้นค่าน้ำในขณะนี้”

อ่านต่อข่าว: “อีสท์วอเตอร์”ขึ้นค่าน้ำอีอีซี นิคม-สภาอุตค้านเพิ่มต้นทุน