052-Startup-Business-Clearbanc-VC

Clearbanc ทุนทางเลือก สำหรับสตาร์ตอัพ

อัปเดตล่าสุด 12 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 611 Reads   

สตาร์ตอัพจะเติบโตได้ก็ต้องมีเงินทุนมาต่อยอด ปัญหาคือนักลงทุนส่วนมากที่มาในรูปของกองทุนร่วมทุนหรือ Venture Capital Fund มักมีเงื่อนไขว่า หากอยากได้เงินก็ต้องเอาหุ้นมาแลก เท่ากับว่ายิ่งระดมทุนได้มากเท่าใด ความเป็นเจ้าของในบริษัทที่ก่อตั้งยิ่งน้อยลง

นั่นจึงเป็นที่มาให้เกิด capital-as-a-service แหล่งเงินทุนทางเลือกแก่สตาร์ตอัพที่อยากได้ทุน แต่ไม่อยากเสียหุ้นในบริษัท

Clearbanc คือหนึ่งในผู้ให้บริการ ซึ่งก่อตั้งในปี 2015 โดย 2 นักลงทุนที่เห็นโอกาสทำเงินจากการลงทุนในสตาร์ตอัพหน้าใหม่ในแวดวงอีคอมเมิร์ซ ที่ค่าใช้จ่ายกว่า 40% หมดไปกับการซื้อโฆษณาออนไลน์

Clearbanc จึงชูจุดขายว่าหากอยากได้เงินทุนไปซื้อโฆษณาทำมาร์เก็ตติ้งเพื่อเพิ่มยอดขายก็ให้มาทางนี้ เพราะ Clearbanc ไม่ต้องการหุ้น แต่ขอแค่ส่วนแบ่งรายได้ประจำทุกเดือนกับค่าธรรมเนียม 6% ของเงินทุนทั้งหมดเป็นพอ

แถมกระบวนการอนุมัติเงินทุนใช้เวลาแค่ 20 นาที เร็วกว่าการระดมทุนผ่าน VC ที่ใช้เวลาหลายเดือน

เหตุเพราะบริษัทพัฒนาระบบอัลกอริทึ่มที่มุ่งวิเคราะห์ 2 ปัจจัยหลักนั่นคือ ดูว่าสตาร์ตอัพนั้น ๆ มี positive ad spend (ผลตอบแทนจากการจ่ายค่าโฆษณาเป็นบวก) และ positive unit economics (เช่น ลูกค้า 1 ราย หรือบริการ 1 ครั้ง มีกำไรรึเปล่า) ประกอบกับมีภาพรวมรายได้ที่ดูสดใส Clearbanc ก็จะอนุมัติเงินทุนและโอนให้ภายใน 48 ชม. มีให้ตั้งแต่ 10,000 เหรียญ ไปจนถึง 10 ล้านเหรียญ ขึ้นอยู่กับขนาดกิจการและการต่อรอง

และถ้ารักษาให้ ad spend/unit economics เป็นบวกต่อเนื่องก็จะได้รับการสนับสนุนต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันที่กิจการเติบโตมีเงินพอจะใช้ทุนคืน (อย่าลืมบวกค่าธรรมเนียมอีก 6%) ก็เป็นอันแยกย้าย

หากเงินยังไม่พอก็สามารถระดมทุนผ่าน VC ปกติได้ ด้วยเงื่อนไขที่จูงใจแบบนี้ เลยทำให้ Clearbanc เติบโตติดปีก ปีที่แล้วปีเดียว Clearbanc ลงทุน 150 ล้านเหรียญในสตาร์ตอัพ 150 ราย ปีนี้ตั้งเป้า 1 พันล้านเหรียญ
 
Clearbanc เอาเงินมาจากไหน ?

ฟังแล้วอาจจะย้อนแย้ง เพราะเงินทุน 120 ล้านจากทั้งหมด 300 ล้านเหรียญบริษัทระดมได้จาก VC

หลายคนเลยมองว่านี่เข้าข่ายปากว่าตาขยิบหรือเปล่า ร้อนถึงผู้ก่อตั้งต้องรีบอธิบายว่า การระดมทุนผ่าน VC ไม่ได้เลวร้ายเสมอไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร

หากเป็นสตาร์ตอัพที่มีบริการใหม่หรือจะรุกตลาดใหม่เอี่อมอ่อง อาจจำเป็นต้องยอมแลกหุ้นกับ VC แต่หากเป็นบริการที่ต้นทุนก้อนใหญ่คือการซื้อ ad บนเฟซบุ๊ก ก็ไม่จำเป็นต้องเอาหุ้นไปแลกให้เสียดาย

ส่วนที่กล้าตั้งเป้าแจกทุนถึง 1 พันล้านเหรียญ มากกว่าทุนตัวเอง เพราะยังมีเงินจากส่วนแบ่งที่เก็บจากสตาร์ตอัพ เฉลี่ยเดือนละ 120 ล้านเหรียญ ทำให้มีเงินสดหมุนเวียนเพียงพอ

ฟังขึ้นไม่ขึ้นก็แล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคล แต่ผู้ก่อตั้งดูมั่นอกมั่นใจว่าในระยะยาวแล้วผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งรายได้ประจำเดือนจะมีมูลค่าสูงกว่าการแลกเปลี่ยนเป็นหุ้นแบบที่ VC นิยมทำกัน แถมตั้งเป้าจะเป็นกองทุนที่ใหญ่กว่า Vision Fund ของ SoftBank ที่มีขนาด 1 แสนล้านเหรียญด้วย ก็รอดูกันไป