060-Covid-19-การค้า-ไทย-จีน

ซัพพลายเชนเจ๊ง 2.4 แสนล้าน โควิดทุบค้า”ไทย-จีน”-จ้างงานเสี่ยงช็อก

อัปเดตล่าสุด 14 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 1,361 Reads   

“ทีเอ็มบี” ชี้ผลพวงจีนปิดประเทศสกัด “โควิด-19” กระทบการค้าและห่วงโซ่การผลิตไทยเสียหาย 2.4 แสนล้านบาท มูลค่าการค้าไปจีนหดตัว 20% ระบุหากยืดเยื้อกระทบต้นทุนวัตถุดิบอ่วม เสี่ยง “ช็อก” จ้างงานในประเทศ ฟาก “กสิกรไทย-แบงก์กรุงเทพ” มองสถานการณ์ไวรัสในจีนคลี่คลายแล้ว เชื่อผลกระทบลูกค้ากลุ่มซัพพลายเชนจีนไม่หนักเท่าเซ็กเตอร์ท่องเที่ยว

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้าง กระทบต่อซัพพลายเชนของไทยค่อนข้างหนัก โดยมีผลกระทบต่อภาคการค้าไทย-จีน จากการที่รัฐบาลจีนใช้มาตรการเข้มงวดชัตดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จะทำให้ครึ่งปีแรก ปี 2563 มูลค่าการค้าไทยไปจีนลดลงราว 2.4 แสนล้านบาท หรือหดตัว 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็น 1.6% ของมูลค่าการค้ารวม ซึ่งสถานการณ์การค้าไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดความรุนแรงลง

“ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้ารวมของไทยพึ่งพิงตลาดจีนถึง 16% ของการค้ารวม และมีมูลค่าสูง 2.5 ล้านล้านบาท แยกเป็นสัดส่วนการนำเข้า 61% และการส่งออก 39% ของมูลค่าการค้าไปจีนรวม ชี้ว่า การชัตดาวน์จะกระทบต่อซัพพลายเชนผู้นำเข้ามากกว่าผู้ส่งออก”

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบในระดับสูง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และสินค้าเกษตร ซึ่งกลุ่มสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชัตดาวน์จะเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร และแรงงานที่อยู่ในภาคการผลิตสินค้าวัตถุดิบที่เน้นส่งออกไปยังตลาดจีน ด้านสินค้านำเข้าที่จะได้รับผลกระทบจากจีนหยุดผลิตหรือไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ได้แก่ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และเครื่องจักรและชิ้นส่วน โดยสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้ามาบริโภคในประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นสินค้าวัตถุดิบต้นทุนต่ำจากจีนที่ผู้ประกอบการนำเข้ามาเพื่อผลิตแล้วขายในประเทศหรือส่งออกต่อ

“ประเมินว่าสถานการณ์การผลิตในจีนจะหดตัวอย่างมากในช่วงไตรมาสแรก และน่าจะกระทบต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 ซึ่งคาดว่าผลของการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบจะไม่กระทบต่อการผลิตในระยะสั้น ๆ มากนัก เพราะผู้ผลิตยังพอผลิตสินค้าได้จากสต๊อกของวัตถุดิบที่ยังคงเหลืออยู่บ้าง และอาจหันไปสั่งซื้อจาก supply chain ประเทศอื่น ๆ ทดแทน แต่ต้องยอมรับว่าการหาวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ต้นทุนจะสูงขึ้นตามไปด้วย”

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากผู้ได้รับผลกระทบที่มีสัดส่วนการค้าพึ่งพิงตลาดจีนสูงกว่า 30% ขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำเข้าที่กระทบ และเมื่อเจาะลึกผลกระทบต่อขนาดธุรกิจ พบว่า กว่า 90% ของจำนวนผู้ค้าขายกับจีนจะเป็นกิจการ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบ เป็นสัดส่วน 33% ของมูลค่าการค้าไปจีน ขณะที่ 10% ของจำนวนผู้ค้าขายกับจีน เป็นกิจการขนาดใหญ่ แต่หากคิดผลกระทบเชิงมูลค่าการค้า จะมีสัดส่วนถึง 67% ของมูลค่าการค้าไปจีนรวม

“หากการแพร่ระบาดยืดเยื้อจนทำให้ภาคการผลิตจีนชัตดาวน์ออกไปเกินกว่าครึ่งปีแรก คาดว่าจะส่งผลต่อ supply chain ในประเทศ จะทำให้วัตถุดิบขาดแคลน และส่งผลกระทบทำให้ผู้ผลิตที่พึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนมีต้นทุนการนำเข้าจากแหล่งอื่นที่สูงขึ้น จนทำให้ผู้ผลิตบางกลุ่มรับไม่ไหว ชะลอการผลิตออกไป ทำให้รายได้ของกิจการลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานในประเทศ เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นายนริศกล่าว

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ลูกค้าของแบงก์ที่เป็นซัพพลายเชนเกี่ยวเนื่องกับจีน มีแค่ในบางอุตสาหกรรม ซึ่งสัดส่วนไม่มาก และไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากจีนหยุดการผลิตและปิดโรงงานบางส่วนในเมืองอู่ฮั่น เพราะหยุดผลิตแค่ระยะสั้นไม่ถึง 1 เดือน โดยปัจจุบันจีนทยอยเปิดโรงงานและการค้าแล้ว ประกอบกับคู่ค้าจีนโดยปกติจะมีการสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบอย่างน้อย 2 เดือน จึงไม่น่ามีปัญหารุนแรง

“จีนหยุดผลิตจริง ทำให้ซัพพลายเชนขาดตอน แต่ดูแล้วลูกค้าโดยรวมไม่ได้รับผลกระทบ การผลิตรถยนต์ขายในประเทศก็ยังเป็นปกติ ไม่ได้สะดุด แม้ว่ายอดการส่งออกและนำเข้าจะหายไป ซึ่งต้องรอดูตัวเลขเดือน มี.ค.ที่จะออกมา แต่เทียบแล้ว เซ็กเตอร์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวน่าจะกระทบเยอะกว่า”

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ในจีนทยอยดีขึ้น โดยจีนเริ่มกลับมาเปิดเมือง การค้าและโรงงานผลิตต่าง ๆ แล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่เป็นซัพพลายเชนเกี่ยวข้องกับจีนน่าจะดีขึ้น ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหามากนัก เมื่อเทียบกับธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยวที่กระทบหนักกว่า

อ่านต่อ: