หรือจะขาลง? อุตสาหกรรม Machine Tools ญี่ปุ่น ยอดต่ำสุดในรอบ 76 เดือน

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 2,016 Reads   

ยอดสั่งซื้อ Machine Tools ญี่ปุ่นเดือนสิงหาคม ลดหนักสุดในรอบ 76 เดือน

Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA) เผย ยอดออเดอร์ Machine Tools ค่ายญี่ปุ่นเดือนสิงหาคม 2019 ปิดที่ 8.83 หมื่นล้านเยน ลดลงจากปีก่อน 37.1% ลดลงต่ำสุดในรอบ 76 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2013 ก่อความกังวลต่อภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นอย่างมาก และเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ที่ทำยอดได้ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านเยน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 พร้อมกับยอดภายในประเทศที่เริ่มลดลง สวนทางกับยอดที่เติบโตอย่างมั่นคงในปีที่แล้ว

เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว?

ยอดสั่ง Machine Tools ภายในประเทศญี่ปุ่นเดือนสิงหาคม 2019 ปิดที่ 3.73 หมื่นล้านเยน ลดลงจากปีก่อน 40.1% อยู่ในเกณฑ์ต่ำเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ทำให้ยอดผิดไปจากการคาดการณ์ในเดือนสิงหาคม 2018 เป็นอย่างมาก

JMTBA รายงานสาเหตุเพิ่มเติมว่า การลดลงของยอดสั่งซื้อในเดือนนี้ เป็นผลจากการที่เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่มีการหยุดงานในหลายบริษัท และเป็นผลย้อนกลับหลังจากที่รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตให้ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มในช่วงปีก่อนหน้า โดยผู้จัดการฝ่ายขายบริษัท Machine Tools รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “อาจเป็นไปได้ว่ามีการจัดสรรงบประมาณไว้ใช้ในเดือนอื่น ๆ” อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายลังเลที่จะลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะการลงทุนสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่  

สภาวะเศรษกิจโลก ตัวแปรสำคัญของยอดสั่ง Machine Tools

ยอดสั่งจากนอกประเทศญี่ปุ่นในเดือนเดียวกันนี้ ปิดที่ 5.09 หมื่นล้านเยน ลดลงจากปีก่อน 34.6% และตกลงมาอยู่ในหลัก 5 หมื่นล้านเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 34 เดือน โดยบริษัทแนวหน้าในอุตสาหกรรม Machine Tools แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา ตัวเลขยอดสั่งที่สูงขึ้นอย่างเห็นชัดเป็นผลจากการเร่งลงทุน 5G ในประเทศจีน และการลงทุนอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทที่ยืนยันว่ามียอดสั่งซื้อที่เข้าข่ายการลงทุนล่วงหน้าคือ Toshiba Machinery ที่รับออเดอร์เครื่องจักรจำนวนมากจากจีน และอินโดนีเซีย, Okuma ซึ่งมียอดสั่งชิ้นส่วนเครื่องจักรจากจีน, และ Tsugami ที่มีการเจรจาซื้อขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Makino แสดงความเห็นว่า ยอดสั่ง Machine Tools จากต่างประเทศที่ลดลงมากมีสาเหตุหลักมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรในประเทศจีน และชี้แจงว่า แม้จะมีการตกลงซื้อขายกับจีนจริง แต่สภาวะเศรษฐกิจของจีนที่กำลังชะลอตัว ทำให้ยอดสั่งซื้อไม่สูงมาก โดย Makino, Toshiba, และ Okuma รายงานตรงกันว่า ยอดส่งออกในเดือนนี้ติดลบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ยอดสั่งลดลงต่ำในรอบ 6 ปี เช่น วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป, การแข็งค่าของเงินเยน, สงครามการค้า, และอื่น ๆ

Mr. Noriaki Himi เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Mitsubishi Electric กล่าวว่าตัวเลขยอดสั่งที่ลดลงอย่างมากในครั้งนี้มีความน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง และชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ในประเทศเยอรมนี ยอดสั่งจากอุตสาหกรรมทั่วไปไม่มีผลกระทบ แต่ยอดสั่งซื้อ Machine Tools จากอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมันลดลงเป็นอย่างมาก”

ประธานบริษัท Machine Tools รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “ไม่เคยคิดมาก่อนว่ายอดออเดอร์จะลดลงมากขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างมั่นคงในระยะยาว และผู้ที่ต้องการแข่งขันในตลาดจะไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางเช่นนี้ ทำให้ความต้องการ Machine Tools ในอนาคตยังคงมีอยู่ และควรให้ความสำคัญกับภาพรวม มากกว่าตัวเลขในแต่ละเดือน” 

Mr. Yoshihide Morimoto เจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้าฝ่ายขาย บริษัท OKK แสดงความเห็นว่า “ที่ผ่านมายอดสั่ง Machine Tools เพิ่มขึ้นสูงเกินไป ทำให้พอยอดกลับมาเป็นปกติจึงดูเหมือนลดลงเป็นอย่างมาก” และแสดงความมั่นใจว่ายอดสั่งในเดือนกันยายนจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน 

ลงทุนเพื่ออนาคต


Fanuc “ROBONANO” สำหรับผลิตแม่พิมพ์งาน Precision Part

ผู้ผลิตเครื่องจักรหลายราย ได้เตรียมรับมือกับความต้องการที่ลดลงในระยะกลาง และระยะยาวเตรียมไว้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น Fanuc ซึ่งมีกำหนดการเดินสายการผลิตของโรงงาน Machine Tools ที่รองรับการผลิตในระดับนาโนเมตร เพื่อตอบรับความต้องการผลิตแม่พิมพ์สำหรับงาน Precision Part เช่น เลนส์ ที่กำลังสูงขึ้น พร้อมตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตอีก 2.5 เท่า

“DS3” โรงงานแห่งใหม่ของ Okuma

รายถัดมาคือ Okuma ซึ่งอยู่ระหว่างวางแผนนำเทคโนโลยีใหม่ในด้านการผลิต และการประกอบ มาพัฒนาสินค้าของตน โดยได้เสร็จสิ้นการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่เมืองคานิ จังหวัดกิฟุ ในเดือนพฤษถาคม และมีแผนติดตั้งสายการผลิตชิ้นส่วนเครื่องกลึง และเครื่องเจียรที่โรงงานสาขาใหญ่ในปี 2020

อีกรายหนึ่งคือ Amada Holdings ซึ่งมีกำหนดการณ์เปิดไลน์การผลิตเครื่องตัดเลเซอร์ที่โรงงานสหรัฐภายในปี 2023 และขยายสายการผลิตในภาคตะวันตกจองสหรัฐในอนาคต


Multi-Tasking Machine บริษัท Yamazaki Mazak ซึ่งรวมเทคโนโลยี AI และ CNC ไว้ด้วยกัน

อีกแนวทางหนึ่งของผู้ผลิต Machine Tools คือการพัฒนาสินค้าเดิมของบริษัทตน เช่น Yamazaki Mazak ซึ่งนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ CNC มาพัฒนา “MAZATROL Smooth Ai” และ DMG Mori ที่วางแผนพัฒนา AI ที่มีคุณสมบัติการควบคุมเครื่องให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น และความร้อนจากการผลิต ให้เป็นฟังก์ชันมาตรฐานของสินค้าตนภายในปี 2021

ส่วนผู้ผลิตรายย่อย ก็มีการลงทุนเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต ทั้งจากอุตสาหกรรม Machine Tools และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น Kamo Seiko Corporation ผู้ผลิต Rack & Pinion แบบไร้ระยะคลอน (Backlash) ก็มีการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ และ HADASEIKOU ผู้ผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนเครื่องจักร ซึ่งมีกำหนดการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่สำหรับผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน 

สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนอีกหรือไม่?

อุตสาหกรรมยานยนต์ คือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ Machine Tools มากที่สุด โดยประธานบริษัทตัวแทนจำหน่าย Machine Tools รายหนึ่ง รายงานว่า “ยอดสั่งซื้อลดลงอย่างกะทันหันในเดือนสิงหาคม” ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการเครื่องจักรของผู้ผลิต Teir 2 และ Teir 3 ที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัท

โดยสาเหุตที่ยอดสั่งลดลงนั้น เป็นผลจากการมาของแนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) และการปฏิวัติการทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่กระตุ้นให้ผู้ผลิตยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ต่างหันมาจ้าง Out Source แทนการผลิตเองมากยิ่งขึ้น โดยประธานบริษัทตัวแทนจำหน่าย Machine Tools รายเดียวกันนี้ แสดงความเห็นว่าข้อข้างต้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดสั่งเครื่องจักรในปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างผิดปกติ และไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะลงลงหรือไม่ในอนาคต