ผลสำรวจรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ คนไทยอ้าแขนรับ "ปลั๊ก-อิน ไฮบริด"

อัปเดตล่าสุด 15 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 402 Reads   

รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเริ่มมีบทบาทในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ พิสูจน์ได้จากยอดขายที่ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงแผนการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย และการเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อันได้แก่ สถานีชาร์จไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่สนใจพิจารณารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นตัวเลือกหนึ่งในอนาคต โดยกลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด มาเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ เหตุผลเทียบราคาแพงกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในรุ่นใกล้เคียงกันไม่สูงเกิน 300,000 บาท ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 7,129 คัน โตขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนราว 59%และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง 

ผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 75% แสดงความสนใจที่จะพิจารณาให้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า หรืออีวีเป็นตัวเลือกหนึ่งหากจะซื้อรถยนต์ในอนาคตเกินกว่า 1 ปีแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีมุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้นแล้วกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

ผลสำรวจยังพบว่าเหตุผลด้านความประหยัดค่าเชื้อเพลิงเป็นเหตุผลลำดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งแน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าบำรุงรักษา รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าทุกประเภทมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในระยะ 10 ปี ต่ำกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่ก็ยังกังวลค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาทิ ราคาแบตเตอรี่ ที่ขึ้นอยู่กับความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้ใช้งานได้นานขึ้นและระยะทางที่ไกลขึ้นแต่อย่างไรก็ตาม แม้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีโอกาสในตลาดมากขึ้นจากมุมมองของผู้บริโภคแต่ความกังวลในเรื่องของความสะดวกในการหาพลังงานสำรองกรณีฉุกเฉินระหว่างการเดินทาง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบบแบตเตอรี่ 100% แม้จะมีความประหยัดมากกว่าในเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และการดูแลรักษาอื่น ๆ แต่กลับได้รับการตอบรับที่น้อยกว่ารถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดค่อนข้างมาก โดยพบว่ามีเพียง 18% ของผู้บริโภคที่ร่วมตอบแบบสอบถามสนใจซื้อรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ในอนาคต

ปัจจัยที่เป็นความกังวลสูงสุด 3 อันดับแรกที่ทำให้ผู้บริโภคอาจไม่เลือกซื้อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแม้จะมีเข้ามาทำตลาดในอนาคต 

  1. สถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีไม่ทั่วถึง 
  2. ราคารถที่ค่อนข้างสูง และ 
  3. ระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุดที่ผู้บริโภคมอง คือ จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้า 

 

ปัจจุบันที่สถานีชาร์จไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากแผนของทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้ารวมกันมากกว่า 1,000 สถานี ภายในสิ้นปี 2561 จริง ๆ แล้วอาจมีจำนวนที่เยอะกว่าความต้องการจริงในปัจจุบันตรงนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจโดยเฉพาะในช่วง 1 ถึง 2 ปีแรก ที่จำนวนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบที่ต้องชาร์จไฟยังมีจำนวนไม่มาก 

ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเงินประมาณไม่เกิน 1.5 บาท/กิโลเมตร สำหรับการชาร์จไฟฟ้าในสถานีให้บริการ ด้วยอัตราค่าไฟดังกล่าว การทำสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบควิกชาร์จ จะคืนทุนภายในระยะเวลา 1 ปี และสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเองโดยไม่พึ่งเงินสนับสนุนจากภายนอก จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เหมาะสมในพื้นที่กรุงเทพฯควรมีจำนวนน้อยกว่า 1,000 แห่ง ภายใต้สถานการณ์ที่คาดว่าปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลและรถสาธารณะชนิดที่ต้องเสียบชาร์จไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯที่จะมีจำนวนราว 50,000 คัน และ 1,300 คัน ภายในปี 2562 

อนาคตหลังจากรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเติบโตมากขึ้น และมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในประเทศ สิ่งที่อาจจะเป็นความกังวลต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณาให้เกิดการพัฒนาขึ้น คือ การหาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ให้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงกระบวนการในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อย หรือไม่เกิดมลพิษเลย เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือชีวมวล นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสเปิดตลาดควบคู่ไปกับการเกิดของรถพลังงานไฟฟ้าในไทย เช่น ธุรกิจบันเทิงและการพักผ่อนรูปแบบต่าง ๆ ยังมีธุรกิจจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วของรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า ธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น mobile service ธุรกิจพัฒนาแอปพลิเคชั่น 
ธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และที่ชาร์จไฟฟ้า ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า และธุรกิจผลิตวัตถุดิบน้ำหนักเบาทดแทนสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ 


หมายเหตุ : ข้อมูลสำรวจจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย