ปตท.ผนึกบริษัทลูกกทม.บูมสมาร์ทซิตี้ ผุด 40 ปั๊มทั่วกรุงลุยพัฒนาที่ดินบางซื่อสู่ฮับอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 21 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 399 Reads   

นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2561 บริษัทได้เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศความร่วมมือพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิทัลเทคโนโลยี พัฒนาไปสู่กรุงเทพฯเมืองอัจฉริยะ มุ่งยกระดับสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) เชื่อมโยงคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดียิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิทัลเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มตลอดการดำเนินธุรกิจและการให้บริการ โดยใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีมาเป็นพื้นฐานในการให้บริการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ สมาร์ทซิตี้ โดย ปตท.และกรุงเทพธนาคมจะร่วมกันส่งเสริมผลักดันการพัฒนานวัตกรรม และการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาเมืองทั้งในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและการขนส่งมวลชน

“การที่เราจับมือกับ ปตท.เพื่อพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่ง ปตท.จะเริ่มพัฒนาในปั๊ม ปตท.ในพื้นที่เขต กทม.กว่า 40 ปั๊มก่อน หลัง MOU จะลงรายละเอียดทันทีและจะนำร่องที่ไหนก่อน จากนั้นจะร่วมมือกันหลังพอ ปตท.ลงเรื่องงาน IOT แล้ว ความร่วมมือเป็นเรื่อการแชร์ใช้ network ต่าง ๆ เช่น กทม.อยากรู้คุณภาพอากาศในปั๊มก็ขอข้อมูลจากเขาได้ หรือแม้แต่การจราจรก็สามารถขอใช้ข้อมูลจากปั๊มน้ำมันได้” นายกิติศักดิ์กล่าวและว่า

ทั้งนี้ การพัฒนาสมาร์ทซิตี้แบบเต็มโครงการร่วมกับ ปตท.มีหลายเรื่องที่หารือร่วมกัน เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เรื่องการจัดการขยะ ด้านสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง โดยจะเริ่มจากการจัดทำข้อเสนอร่วมกัน มีกำหนดจะสรุปภายในเดือน ต.ค. 2561 นี้ ซึ่ง ปตท.จะเริ่มดำเนินการบริเวณศูนย์เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ ย่านบางซื่อ ถนนวิภาวดีรังสิตที่ ปตท.มีแผนจะพัฒนาร่วมกับพันธมิตรต่างชาติคือญี่ปุ่น

“การทำงานร่วมกับเอกชนเพราะ กทม.เป็นเจ้าของพื้นที่ที่ต้องดูเรื่องกฎระเบียบ ใบอนุญาต จริง ๆ ก็เกี่ยวกับเขาหมด ทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ ระบบสาธารณูปโภค ส่วนจะร่วมพัฒนาสมาร์ทซิตี้กับ ปตท.ด้วยไหมก็ดูเป็นเฉพาะเรื่องอีกทีหนึ่ง สมมุติเขาอยากทำระบบรถไฟฟ้าสายรองแบบที่ไอคอนสยามทำก็เป็นเรื่องที่ร่วมมือกันได้ในอนาคต”
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง ปตท.สนใจจะลงทุนสมาร์ทซิตี้ย่านบางซื่อ ซึ่งเป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท.และได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการครอบคลุมพื้นที่ 2,325 ไร่ รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน PPP 30-50 ปี หรือรายบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง ใน 15 ปีแรกใช้เงินลงทุน 358,700 ล้านบาท

“ปตท.ร่วมกับญี่ปุ่นจะพัฒนาย่านบางซื่อเป็นสมาร์ทซิตี้ต่อยอดกับโครงการเอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ โดยจะเริ่มจากลงทุนด้านอินฟราสตรักเจอร์อุปโภคบริโภค เช่น ระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น ทดแทนการใช้แอร์ ช่วยประหยัดพลังงาน ระบบไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต และพลังงาน ขายในโครงการรองรับคนทำงานและอยู่อาศัยย่านบางซื่อ จากนั้นถึงจะเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ปตท.เสนอการร่วมทุนกับ ร.ฟ.ท.เป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจกับรัฐวิสาหกิจ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ไจก้าได้นำโครงการสมาร์ทซิตี้ของ ปตท.ที่ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้มารวมกับของ ร.ฟ.ท.เพื่อให้การพัฒนาที่ดินมีศักยภาพมากขึ้นใช้เวลาดำเนินการ 30 ปี แบ่งพัฒนา 3 เฟส เฟสละ 5 ปี พัฒนา 9 โซน จากเดิม 4 โซน ระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท

ในแต่ละเฟสมีการลงทุน 5 ส่วน 1.เชิงพาณิชย์ เช่น ออฟฟิศให้เช่า ร้านค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์ประชุม 2.สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบสมาร์ทซิตี้ 3.โครงข่ายคมนาคม เช่น บีอาร์ที 4.โครงข่ายการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น สวนสาธารณะ ระบบกักเก็บน้ำ และ 5.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ท่อระบายน้ำ

โดย 5 ปีแรกเริ่มพัฒนาโซน A 35 ไร่ ติดสถานีกลางบางซื่อ ขณะนี้ผ่านคณะกรรมการ PPP ไปแล้ว ให้สัมปทานเอกชนบริหาร 30 ปี ลงทุน 11,573 ล้านบาท จากนั้นเป็นโซน D บางส่วนที่จะพัฒนาเป็นทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างบางซื่อกับหมอชิตเก่า และโซน D ย่านตึกแดง 119 ไร่ รูปแบบพัฒนาจะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดกลางปี 2563

อีก 5 ปีต่อมาจะพัฒนาโซน B (จตุจักร) โซน G ย่าน กม.11 และโซน C ตรง บขส.เป็นที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม ขณะที่ 5 ปีสุดท้ายจะพัฒนาโซนที่เหลือเช่น โซน D อยู่ติดโรงซ่อม

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่ผลศึกษาของ ปตท.ที่เสนอมาเมื่อปี 2559 ใช้เงินลงทุน 52,361 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่เป็นเมืองใหม่รอบสถานีรถไฟ โดยมีการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน และพัฒนาพื้นที่ติดสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นย่านธุรกิจการค้าและบริการ โดยใช้ระบบการขนส่งขนาดรอง เช่น รถบีอาร์ทีที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาการลงทุนมารองรับการเดินทางภายในพื้นที่โครงการ มีทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ สำนักงาน และที่อยู่อาศัย

ในแผนแม่บทการพัฒนา กำหนดให้ย่านบางซื่อเป็นประตูสู่กรุงเทพฯเมืองสวรรค์ เพราะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้านระบบราง มีทั้งรถไฟฟ้าในเมืองรถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง รถไฟขนส่งสินค้า รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ TOD และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน