Cargo ยกร้านสะดวกซื้อมาไว้ในแท็กซี่

อัปเดตล่าสุด 24 ต.ค. 2561
  • Share :
  • 395 Reads   

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ใครเคยติดแหง็กอยู่บนรถแท็กซี่ครั้งละนาน ๆ คงรู้ว่ามันน่าเบื่อขนาดไหน หิวก็หิว เครียดก็เครียด ถ้ามีอะไรมาให้เคี้ยวเล่นแก้เซ็งคงดี
สตาร์ตอัพที่เราจะพูดถึงในวันนี้มีบริการเพื่อเอาใจคนนั่งแท็กซี่โดยเฉพาะนั่นคือ การยกร้านสะดวกซื้อมาไว้บนรถให้เราได้ช็อปไป ชิมไป ตลอดทาง สตาร์ตอัพแห่งนี้ชื่อว่า cargo ทำหน้าที่เป็นคนกลางนำสินค้าของแบรนด์ต่าง ๆ มาใส่กล่องขนาดพอเหมาะ เพื่อวางไว้บริเวณคอนโซลข้างคนขับให้โดดเด่นสะดุดตาผู้โดยสารจะหยิบจับก็ง่าย สินค้าส่วนใหญ่เป็นขนมขบเคี้ยว หมากฝรั่ง กาแฟ และของใช้จำเป็นอย่างที่ชาร์จโทรศัพท์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น

เมื่อลูกค้าสนใจสินค้าตัวใด เพียงแค่ล็อกอินเข้าหน้าเว็บของ cargo กดเลือกสินค้า กดจ่ายเงิน จากนั้นก็หยิบจากกล่องได้เลย
บริการของ cargo นั้นมีไว้อำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้าที่นั่งรถของ Uber (ในอเมริกา) และ Grab (ในเอเชียบางประเทศ) เท่านั้น เพราะเขาผูกปิ่นโตเป็นพันธมิตรกันตั้งแต่แรก
นอกจากนี้ บริษัทยังจับมือกับเจ้าของสินค้าดัง ๆ อย่าง Kellogg’s Starbucks Mars และ Wrigley Confectionery ที่คอยซัพพลายสินค้าทั้งที่เป็นสินค้าตัวอย่างไว้แจกฟรีกับสินค้าจริงที่มีไว้ขาย

cargo พิถีพิถันเรื่องการเลือกคนขับเป็นพิเศษ โดยจะคัดเฉพาะคนขับที่ได้เรตติ้งอย่างน้อย 4.7 และมีการรับงานสม่ำเสมอ
เมื่อได้คนขับที่ผ่านเกณฑ์แล้ว บริษัทจะนำกล่องบรรจุขนมนมเนยและสินค้าสารพัดไปประเคนให้ถึงที่ โดยคนขับสามารถนำสินค้าทั้งหมดไปขายฟรี ๆ ไม่ต้องจ่ายมัดจำ ไม่มีค่าหัวคิวใด ๆ ทั้งสิ้น


ที่เด็ดคือ ทุกครั้งที่ลูกค้าสั่งสินค้า 1 ชิ้น (ไม่ว่าจะเป็นสินค้าตัวอย่างหรือสินค้าจริง) คนขับก็จะได้เงินตอบแทนไปเลยทันที 1 เหรียญ พร้อมค่าคอมมิสชั่นอีก 25% ของราคาสินค้า
บริษัทเคลมว่าตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2017 มีลูกค้าสั่งสินค้าแล้วกว่า 2 ล้านรายการ และมีคนขับเข้าร่วมโครงการกว่า 12,000 คน กระจายตัวอยู่ใน 10 เมืองหลักของอเมริกา
จากสถิติพบว่าคนขับส่วนใหญ่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1,200 เหรียญ และมี 10% ที่เป็นนักขายมือทองฟันรายได้ปีละ 3,600 เหรียญสบาย ๆ โดยไม่ต้องควักกระเป๋าสักสตางค์แดงเดียว

ส่วนบรรดาแบรนด์เจ้าของสินค้าและเครือข่ายรถอย่าง Uber/Grab ก็ได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า

สิ่งที่เจ้าของสินค้าได้แน่ ๆ คือ 1) พื้นที่โฆษณาสินค้าแบบเจาะตรงเข้าถึงลูกค้าแบบใกล้ชิดระยะเผาขน ไม่ว่าจะเปิดตัวสินค้าใหม่ หรือจัดโปรฯสำหรับสินค้าเดิม ก็สามารถเช็กฟีดแบ็กได้ทันที (ก็อยู่ในรถ จะหนีไปไหนได้) 2) ได้พื้นที่ขายของแบบ exclusive และ 3) ได้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายทั้งวัย ที่อยู่ ที่ทำงาน ไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมการช็อปปิ้ง เพื่อต่อยอดการพัฒนาสินค้าและแคมเปญอื่น ๆ ต่อไป


ส่วน Uber/Grab ก็สามารถใช้ cargo เป็นบริการเสริมเพื่อเพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้า และช่วยดึงให้คนขับดี ๆ ไม่เปลี่ยนใจไปขับให้คู่แข่งด้วย
ด้วยบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ทำให้บริการของ cargo เรียกเสียงฮือฮาได้ตั้งแต่วันแรก แถมยังมีพันธมิตรระดับบิ๊ก ๆ เป็นเครื่องการันตี ทำให้นักลงทุนรู้สึก “เอ็นดู” สตาร์ตอัพน้องใหม่รายนี้เป็นพิเศษ จึงพากันตบรางวัลด้วยเงินทุนไปแล้วกว่า 30 ล้านเหรียญ ซึ่ง cargo บอกว่าจะนำเงินก้อนนี้ไปขยายพื้นที่ให้บริการทั้งในอเมริกาและในต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียอย่างสิงคโปร์ต่อไป