iMould Die Symposium 2019 คึกคัก นักอุตสาหกรรมด้านแม่พิมพ์แห่ร่วมงาน

อัปเดตล่าสุด 27 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 705 Reads   

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ณ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI: Thai-German Institute) ได้จัดงาน iMould Die Symposium 2019 “Innovation for Mould Die & Machine Tools” ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมการผลิตและแม่พิมพ์ยุค 4.0” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การดําเนินงานของศูนย์แม่พิมพ์และเครื่องมือกล รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ และระบบการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ให้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของสถาบันฯ และหน่วยงานพันธมิตรที่มีความร่วมมือในการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจ การให้คําปรึกษา การฝึกอบรม การค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มีการเร่งพัฒนาคนในอาชีพอุตสาหกรรมแม่พิมพ์รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) โดยงานในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนักอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการจากหลากหลายภาคส่วน เช่น ผู้ประกอบการด้านการผลิตแม่พิมพ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันอาชีวะศึกษา เข้าร่วมงานกว่า 250 คน ภายในงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนพื้นที่การจัดแสดงเทคโนโลยีในด้านแม่พิมพ์ ทั้งพลาสติกและโลหะ ซึ่งจัดนำนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่จากบริษัทผู้ผลิต และตัวแทนจําหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศร่วมจัดแสดง และการสัมมนาในหลายหัวข้อ

โดยพิธีเปิดอย่างเป็นทางการนั้น คุณสินธู อู่เงิน ประธานกรรมการจัดงาน iMould Die Symposium 2019 ได้ขึ้นกล่าวถึงที่มาและเหตุผล รวมถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน 3 เรื่องหลัก คือ 1. เพื่อนำเสนอขีดความสามารถของสถาบันไทย-เยอรมัน ในด้านแม่พิมพ์ และด้านการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0  2. เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีแม่พิมพ์ และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย 3. เป็นเวทีนำเสนอเทคโนโลยีและแนะนำบริการของสถาบันไทย-เยอรมัน หน่วยงานความร่วมมือ และพันธมิตร รวมทั้งสร้างเครือข่ายงานด้านแม่พิมพ์และด้านการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมกับปาฐกถาพิเศษ “Enhance Innovatio Driven Mould and Die Entrepreneur”


คุณสินธู อู่เงิน ประธานกรรมการจัดงาน iMould Die Symposium 2019 

รองอธิบดีกรมส่งเสริมฯ คุณเดชา จาตุธนานันท์ ได้กล่าวในปาฐกถาพิเศษ “Enhance Innovatio Driven Mould and Die Entrepreneur” ว่า การพัฒนาในทุก ๆ ด้านอุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยความตั้งใจว่า ในปี 2570 ประเทศไทยจะต้องก้าวไปอีกขั้น และจะเป็นก้าวที่สำคัญ และอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ก็เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญ เป็นต้นกำเนินของผลิตภัณฑ์ในหลากหลายอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์มาตลอด 10 ที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี บุคลากร การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เกิดศูนย์เชี่ยวชาญแม่พิมพ์ทั้งโลหะ และพลาสติก รวมถึงงานวิจัยและพัฒนา ก็มีการดำเนินการอย่างเป็นเครือข่ายเข้มแข็ง 

คุณเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ปัจจุบันมีโรงงานแม่พิมพ์อยู่ 836 ราย มูลค่าการค้าของปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9,293 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 27,100 ล้านบาท ส่วนในปี 2562 มีมูลค่าการส่งออกช่วงสองไตรมาสแรกอยูที่ 4,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้าในสองไตรมาสแรกอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ามูลค่าการนำเข้าสูงกว่าการส่งออก ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์แม่พิมพ์ใน 2-3 ปีข้างหน้า เรามีความต้องการจะพัฒนาไปอีกขั้น หลังจากพัฒนาบุคลากรแล้ว ต่อไปต้องเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ และเน้นในเรื่องการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ 

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการเสริมสร้างภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและเข้มแข็ง และจะเป็นรากฐานที่มั่นคง และต่อยอดสู่การพัฒนาได้ โดยเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี จึงจะสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในองค์รวมได้

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์เองก็จะต้องมีการปรับตัวให้เร็วและแข็งแรง พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้การผลักดันอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกัน กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ให้สามารถปรับตัวรองรับอุตสาหกรรมปลายน้ำให้ได้ คุณเดชา กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับหัวข้อเสวนา “ทิศทางอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” โดย ดร.ฉัตรแก้ว ฮาตระวัง กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ จำกัด, คุณเจษฎา กิ่งแก้ว  Technical Service Director Senior Aerospace (Thailand) Limited, คุณบุญเลิศ ชดช้อย นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย, คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน, และดำเนินรายการโดย คุณวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น  “Smart Solution for Manufacturing Innovation” โดย Sandvik Thailand Ltd. ได้ชวนให้ผู้ร่วมสัมมนาตระหนักถึงกระแส Disruption ที่รุกคืบเข้ามาในวงการอุตสาหกรรมไทย และเรากำลังจะปั่นป่วนด้วยเทคโนโลยี ถ้าไม่รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ยุคแห่งการแข่งขันเช่นนี้ เทคโนโลยีคืออาวุธเพื่อลดต้นทุน 

“Disruption คือนัยยะสำคัญที่กำลังจะบอกว่า ความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้า หรือตลาด เริ่มเปลี่ยนแปลง การเปิดรับการเปลี่ยนพร้อมปรับตาม จะช่วยตอบสนองความต้องการที่เกิดใหม่ของตลาดได้”

ตัวแทนจากบริษัท Sandvik Thailand Ltd. 

หัวข้อ “The Future of Intelligent Monitoring and Controlling System for Production” โดย คุณนนทณัฐ เนืองกันยา จากบริษัท อาร์เบอร์ก (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งมาพร้อมกับคำถามที่ว่า เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมได้อย่างไร นั่นแหละคือหน้าที่ ที่ผู้ประกอบการทุกท่านต้องหาคำตอบ เพราะเทคโนโลยีกำลังจะพลิกโลก ! 

เราอยู่ในช่วง “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” ลองคิดดูว่าเทคโนโลยีถูกปรับปรุง แก้ไข พัฒนามาไกลขนาดไหนกันแล้ว เมื่อมีการพัฒนาที่มาก ๆ ขึ้น ย่อมมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่สอดรับตามความน่าจะเป็น จึงเกิดความยากทั้งในเรื่องของการเข้าใจในเทคโนโลยี ระบบการทำงาน รวมไปจนถึงการที่จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการทำงาน และนำความซับซ้อนนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นการนำมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ Digitalization กำลังเข้ามามีบทบาท คือเป็นการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างทางธุรกิจที่มีฐานรากจากเทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมไทยก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนกันไป เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการไม่ควรหลีกเลี่ยง หากเป้าหมายคือการพัฒนากระบวนการผลิตขององค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0


คุณนนทณัฐ เนืองกันยา จากบริษัท อาร์เบอร์ก (ไทยแลนด์) จำกัด