กนอ.เซ็น ปิ่นทองฯ ตั้งนิคมใหม่ 'ปิ่นทอง 6' รองรับ EEC

อัปเดตล่าสุด 1 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 1,115 Reads   

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 6) บนพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ ด้วยเม็ดเงินลงทุน 2,625.78 ล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve คาดว่าโครงการมีศักยภาพด้านการตลาด เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่สนใจมาลงทุน ประกอบกับผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ ภายใต้มาตรการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เพื่อส่งเสริมและเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนในอีอีซีให้มีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยล่าสุด กนอ.ได้จับมือกับบริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 6) เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายอีอีซี โดยได้เลือกพื้นที่จัดตั้งในตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง ตำบลมาบข่า อำเภอบ้านค่าย และตำบลนิคมพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง บนพื้นที่ประมาณ 1,322.40 ไร่ โดยใช้รูปแบบการร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในไทยประมาณ 38,200 ล้านบาท

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 1,322.40 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 954.33 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 72.17 พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคประมาณ 228.59 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17.25 และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนประมาณ 739.67 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.58 ของพื้นที่ทั้งหมด

นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองได้ เนื่องจากมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมต่อ นิคมอุตสาหกรรมอื่นได้ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอระยอง 36 นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นต้น ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศในพื้นที่ เช่น ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรมและการขนส่งสินค้าในภาคต่างๆ ได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ระบบการขนส่งและการกระจายสินค้าในภาคการผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมอีกแห่งหนึ่งที่นำแนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาใช้ในการออกแบบ พร้อมจัดให้มีพื้นที่สีเขียว และพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ พร้อมทั้งมีนโยบายในการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ใหม่ในโครงการฯ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษและเป็นการประหยัดพลังงาน ซึ่งจำเป็นต่อการส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 6) แห่งนี้จะมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น เพื่อให้แรงงานไทยได้พัฒนาความรู้ความสามารถและเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนตามแนวคิด High Technology ในการพัฒนาประเทศได้ต่อไป”