ปีแห่งการขับเคลื่อนอีอีซี BOI จัดเต็มสิทธิประโยชน์เฉพาะทาง

อัปเดตล่าสุด 31 ธ.ค. 2560
  • Share :
  • 701 Reads   

นับเป็นเวลาเกือบ 1 ปีพอดี หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กนศ.) และคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง ก่อนที่ พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. จะมีผลบังคับใช้ โดยโครงการนี้ถือเป็นการนำเอาอีสเทิร์นซีบอร์ดภาคตะวันออกมา “ต่อยอด” เพื่อพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการลงทุน และหวังที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (new growth engine) ของประเทศ

ใช้ fast track ร่นเวลา PPP

คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) ได้จัดทำแผนงานในโครงการหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ 5 โครงการแรก ได้แก่ การพัฒนารถไฟความเร็วสูง, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและการซ่อมบำรุงอากาศยาน, การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และการขยายเมืองและสร้างเมืองใหม่

โดยมีการจัดทำ EEC Track เพื่อให้การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) สามารถเกิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากการกำหนดมาตรการ fast track ใช้เวลาพิจารณาเหลือเพียง 8-10 เดือนเท่านั้น รวมไปถึงการวางกรอบ PPP ให้อยู่ในระบบการแบ่งปันความเสี่ยงที่เหมาะสม (risk sharing) ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบัง จะแล้วเสร็จตามแผนภายใน 5 ปี ด้วยเงินลงทุนที่คาดการณ์ไว้ในระดับ1.5 ล้านล้านบาท

เขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะทาง

พร้อม ๆ ไปกับการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ 5 โครงการใน EEC คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็น กิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานและกิจการโลจิสติกส์, การบริการ, การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้ขยายเวลาและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ใหม่ ด้วยการกำหนดเป็น เขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะทางในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก แบ่งเป็น

1)  เมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City หรือ EEC-A) ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา ในประเภทกิจการผลิต (ลำตัวอากาศยาน-ชิ้นส่วนประกอบ-อุปกรณ์ในอากาศยาน) หรือซ่อมอากาศยาน หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับอวกาศ (ชิ้นส่วนยานอวกาศ-ดาวเทียม-ระบบขับเคลื่อนจรวดนำส่ง-อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อสารในอวกาศ-ระบบค้นหา/ตรวจวัด-ระบบสถานีภาคพื้น-ระบบการประเมินผล-ระบบนำทางในอวกาศ) หรือกิจการขนส่งทางอากาศหรือกิจการนิคม/เขตอุตสาหกรรมอากาศยาน/อวกาศ

2)  เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi) กับ 3 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) โดย EECi และ EECd กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาประเภทกิจการเป้าหมายอยู่

โดยเขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะทางใหม่ทั้ง 3 เขตนี้ ผู้ขอรับการส่งเสริมจะได้รับด้วยการให้สิทธิประโยชน์และการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของอัตราปกติเป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นการเพิ่มเติม โดยให้นับตั้งแต่วันที่ระยะเวลาการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลงตามเกณฑ์ปกติ แต่การให้สิทธิประโยชน์ “เพิ่มเติม” นี้ มีเงื่อนไขให้ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จะต้อง “ร่วมมือ” กับสถาบันวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) อาทิ ความร่วมมือในโครงการ Talent Mobility, Work-integrated Learning สหกิจศึกษาและทวิภาคี ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะความร่วมมือสหกิจศึกษา หรือความร่วมมืออื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องยื่น “แผนความร่วมมือ” ในการรับนักเรียน-นักศึกษาเข้าฝึกอาชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานในโครงการ หรือไม่น้อยกว่า 50 คน

เขตส่งเสริมกิจการ S-curve

เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรม S-curve โดยเฉพาะ จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ตั้งกิจการด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี พร้อมเงื่อนไขจะต้องมีความร่วมมือกับสถาบัน/ศูนย์ความเป็นเลิศ (เหมือนกับเขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะทาง) โดยปัจจุบันได้รับการส่งเสริมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (สมาร์ทพาร์ค) จ.ระยอง เนื้อที่ 1,400 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 2 จ.ชลบุรี เนื้อที่ 8,000 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 4 จ.ระยอง เนื้อที่ 1,900 ไร่

และ นิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมใน EEC ด้วยการคัดเลือกจากประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมอยู่ในปัจจุบันที่เหมาะสมในการตั้งในนิคม ทั้งใน 10 อุตสาหกรรม S-curve และในกลุ่ม A1-A3 ที่ใช้เทคโนโลยีสูง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 3 ปีจากเกณฑ์ปกติ แต่ยังคงมีเงื่อนไขความร่วมมือกับสถาบัน/ศูนย์ความเป็นเลิศด้วย (นักศึกษาฝึกงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือ 25 คน)

ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC 30 แห่งในจำนวนนี้เปิดดำเนินการไปแล้ว 22 แห่ง

รอ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า จากเป้าหมายที่จะให้มีนักลงทุนเข้ามาใน EEC 1 ปี ประมาณ 30 รายนั้น “กรศ. ไม่ได้นั่งรอ” ให้นักลงทุนเข้ามา แต่จำเป็นที่ต้องเตรียมแผนงานให้พร้อมเพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-curve ที่กำลังจะเกิดขึ้นคู่กันไปด้วย ทั้งแผนด้านเกษตร แผนสร้างคนด้านการศึกษา และผังเมือง

สำหรับปี 2561 สิ่งที่จะเกิดขึ้นชัดเจนที่สุดก็คือ พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ซึ่งนักลงทุนต่างรอคอยเพราะถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะเข้ามา “การันตี” ให้กับนักลงทุนว่า โครงการใหญ่ระดับประเทศของรัฐบาลไทยโครงการนี้ “จะไม่มีทางล้มครืนลงมาอย่างแน่นอน” และยังจะได้เห็นร่างขอบเขตงาน (TOR) ของ 4 โครงการสำคัญที่จะเกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ในปีหน้ายังมี แผนแม่บท EEC เกิดขึ้นด้วย “การตั้งเขตส่งเสริมพิเศษต่าง ๆ ขึ้นมา บวกกับการสนับสนุนจากภาครัฐในการจูงใจด้านภาษี เชื่อว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การบิน หุ่นยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยาและเครื่องมือแพทย์ ภายในไตรมาส 2/2561 นี้” นายคณิศกล่าว

ล่าสุด BOI ได้รายงานการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) 9 เดือนแรก (ม.ค-ก.ย. 2560) รวม 229 โครงการ เงินลงทุน 104,164 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.7 ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ขอรับการส่งเสริม แต่ในจำนวนนี้เป็นโครงการลงทุนที่อยู่ในพื้นที่ EEC จำนวน 88 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนทั้งหมด 56,855 ล้านบาท