9 เรื่องน่ารู้ อาลีบาบาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไร

อัปเดตล่าสุด 20 เม.ย. 2561
  • Share :
  • 1,316 Reads   

เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา นายแจ็ค หม่าประธานกลุ่มอาลีบาบาได้เดินทางมายังเมืองไทยเพื่อร่วมเป็นสักขีพยาน ในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆของไทยกับบริษัทในเครืออาลีบาบากรุ๊ป แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าอะลีบาบามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับประเทศไทยและนี่คือ 9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอะลีบาบากรุ๊ปที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย

  1. อาลีบาบา กับการให้ความช่วยเหลือด้านการค้าข้ามพรมแดน ปัจจุบัน Alibaba.com กำลังทำงานร่วมกันกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยจำนวนมาก เช่น โรจนะ อีทัช, เรดดี้แพลนเน็ต, คราวน์ เทค แอดวานซ์ และ สวัสดี กรุ๊ป เพื่อขยายบริการสมาชิก Gold Supplier และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทย

  2. Alibaba.com ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการให้ความรู้แก่นักศึกษาและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการยกระดับธุรกิจและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ในเดือนเมษายน 2560 Alibaba.com ได้ลงนามในข้อตกลงสามฝ่ายกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและสถาบันลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

  3. เพื่อเป็นการตอบสนองต่อตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางชาวจีนที่กำลังขยายตัวและกำลังมองหาสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพสูง อาลีบาบาจึงเปิดตัว ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน (Thailand Pavilion) บนทีมอลล์ โกลบอล ในเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งปัจจุบันช่องทางดังกล่าวมีผลิตภัณฑ์จากร้านค้าและแบรนด์ไทยมากมายให้เลือกสรร เช่น สินค้าจาก คิง เพาเวอร์  เครื่องสำอางมิสทีน ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสเนลไวท์ น้ำมันนวดผิวกายและผลิตภัณฑ์ความงามอื่นๆ จากแบรนด์สถิรา และข้าวตราฉัตร และในเดือนพฤศจิกายน 2560 ทีมอลล์ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับข้าวเบญจรงค์ เพื่อสนับสนุนการผลิตข้าวหอมมะลิไทยสำหรับการจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย

  4. ลาซาด้า กรุ๊ป (Lazada Group) เปิดตัวเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ www.lazada.co.th ในปี 2555 ปัจจุบัน ลาซาด้าได้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกสรรถึง 17 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องใช้ในครัวเรือน ของเล่น เสื้อผ้าแฟชั่น มอเตอร์ อุปกรณ์กีฬา และอื่นๆ อีกมากมาย ลาซาด้าสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่สะดวกสบาย โดยผู้ซื้อสามารถชำระเงินผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินสดเมื่อส่งมอบสินค้า (cash-on-delivery) การจัดส่งฟรีเมื่อมียอดสั่งซื้อสินค้าราคา 99 บาทขึ้นไป รวมทั้งการบริการลูกค้าและการรับคืนสินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

  5. อาลีเพย์ยังเป็นพันธมิตรกับธนาคารชั้นนำของไทย และผู้ให้บริการการชำระเงินชั้นนำอื่นๆ เพื่อทำให้การชำระเงินข้ามพรมแดนของผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นไปด้วยความสะดวก นับตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2558 อาลีเพย์ได้เปิดให้บริการมากกว่า 10,000 จุดทั่วประเทศไทย โดยจุดให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

  6. อาลีบาบา คลาวด์ คือ 1 ใน 3 ผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งระดับโลกในประเทศไทย อาลีบาบา คลาวด์ เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในปี 2559 โดยร่วมมือกับสตาร์ทอัพและพันธมิตรในประเทศ ด้วยจุดมุ่งหมายในการหยิบยื่นเทคโนโลยีอันล้ำสมัยให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศ

  7. ฟลิกกี้ (Fliggy) เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ทางด้านการท่องเที่ยวที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้กับผู้บริโภคชาวจีน ผ่านผู้ประกอบการจำนวนมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฟลิกกี้ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีน ธุรกิจไทยที่ให้บริการบนฟลิกกี้ในขณะนี้ ได้แก่ การบินไทย และตัวแทนจำหน่ายการท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้แก่ แม็กสมายล์ (MaxSmile) และ โกลเด้นกูซ (Golden Goose) ด้วยฟลิกกี้และอาลีเพย์ อาลีบาบา กรุ๊ป และ แอนท์ ไฟแนนเชียล ได้ช่วยเหลือผู้ค้าไทยมากกว่า 50,000 ราย ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยแพลตฟอร์มทั้งสองได้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนกว่าครึ่งในการท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2560

  8. ในปี 2559 อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับรัฐบาลไทย เพื่อร่วมมือกันเสริมศักยภาพด้านอีคอมเมิร์ซให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย รวมถึงพัฒนาอินฟราสตรัคเจอร์ (infrastructure) ของอีโคซิสเต็ม (ecosystem) อีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีในประเทศไทย ในปี 2560 อาลีบาบาและลาซาด้าร่วมกันจัดการอบรมด้านอีคอมเมิร์ซให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยรวมประมาณ 3,000 ราย ส่วนหนึ่งของความร่วมมือนี้ ได้แก่ อาลีบาบา โกลบอล คอร์ส (Alibaba Global Course) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยเราได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซและกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดโลกของอาลีบาบาให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย

  9. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 รัฐบาลไทย และ อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งครอบคลุมด้านอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ดิจิทัล การท่องเที่ยว และการอบรม

ภายในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆของไทยกับบริษัทในเครืออาลีบาบากรุ๊ป เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา นายแจ็ค หม่า ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นในการลงทุนร่วมกับประเทศไทย

“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับประเทศไทย เราเชื่อมั่นว่าในอีกหลายปีข้างหน้า SMEs จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ การได้ร่วมมือกับประเทศไทยในเวลานี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมและคงจะไม่มีเวลาที่ดีกว่านี้อีกแล้ว ด้วยนโยบายเปิดการค้าเสรีของจีน และการก้าวเชิงรุกในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศไทย ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีของทั้งสองประเทศ แป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสำเร็จ หมายถึงการสนับสนุนให้ประชากรในประเทศมีความสำเร็จ และส่งผลไปสู่ความสำเร็จของทั้งสองประเทศ”

นอกจากนี้นายแจ็คหม่ายังได้เพิ่มเติมอีกว่า “เราไม่ต้องการอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าคนอื่นหรืออะไรที่มากไปกว่านี้ สิ่งที่เราต้องการคือความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์ และความกล้าหาญของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกได้จากประเทศไทย เราเชื่อว่าอภิสิทธิ์ที่จะให้ใครควรที่จะให้กับบริษัทเล็กๆ มากกว่าที่จะให้อะลีบาบา เราเชื่อว่ารัฐบาลมีนโยบายที่อยากจะช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ผมเชื่อว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำเป็นที่จะได้รับนโยบายส่งเสริม

ถ้าเราคิดแค่การทำการซื้อขายเราคงใช้เวลาพูดคุยกันไม่นานมากขนาดนี้ แต่เราไม่เลือกที่จะทำในเรื่องง่ายๆ เราเลือกที่จะสร้างอนาคตใหม่ร่วมกัน เราจึงใช้เวลาในการวางแผนงานมาตลอดแปดเดือนที่ผ่านมา เราจึงมั่นใจในประเทศไทยและพร้อมที่จะให้คำมั่นสัญญาในระยะยาวและมีความยั่งยืนต่อเนื่องยาวนาน”