ควรทำอย่างไรเมื่อ สินค้าที่ผลิตไม่ได้คุณภาพ ต้นทุนบานปลาย

อัปเดตล่าสุด 25 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 1,968 Reads   
ในการแข่งขันที่สูงขึ้นแน่นอนว่าในคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แล้วมาตรฐานของผลิตภัณฑ์คืออะไร และมีวิธีใดที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและคุณภาพตามที่ผู้ประกอบการต้องการภายใต้ต้นทุนและงบประมาณที่จำกัด  
 
ปัญหาเหล่านี้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติในฐานะผู้สร้างและผู้ดูแลมาตรฐานการวัดแห่งชาติ หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศมีคำตอบและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกท่านผ่านโครงการ “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา”
 
โครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา มีความพร้อมเพื่อส่งต่อความแม่นยำทางการวัด โดยนำเทคโนโลยีมาตรวิทยาเข้าช่วยผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น แถมยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย แล้วสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจะช่วยผู้ประกอบการได้อย่างไร เรามาทำความรู้จักกับโครงการนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า
 
โครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา คืออะไร
โครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา คือโครงการที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถการแข่งขันสำหรับตลาดในประเทศ รวมทั้งสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับสากล ผ่านการยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ การเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ และการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  ได้แก่
  • อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
  • อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  • อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
  • อุตสาหกรรมดิจิตอล
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
แต่ถึงอย่างไรก็ตามโครงการไม่ได้จำกัดสิทธ์การเข้าร่วมโครงการไว้เพียงแค่อุตสาหกรรม S-curve ดังกล่าวเท่านั้น โครงการยังเปิดรับผู้ประกอบการจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการความช่วยเหลือในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและคุณภาพ
 
ทางสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการนี้อย่างไร
มาถึงคำถามสำคัญ ทางสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้เปิดเผยกับ M Report ว่า เมื่อมีผู้ประกอบติดต่อเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ทางสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจะมีการจัดทีมนักมาตรวิทยาที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยในเรื่องของการวัดที่ถูกต้อง ตลอดจนการเก็บ และดูแลรักษาเครื่องมือที่ใช้ในการวัดได้อย่างถูกวิธี อีกทั้งให้คำปรึกษาหากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยอื่นเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างศักยภาพให้แก่การผลิต 
เนื่องจากกระบวนการผลิตสมัยใหม่จะต้องอาศัยต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของคุณภาพและราคา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุค 4.0 โดยมาตรวิทยาจะเข้าไปช่วยในเรื่องของเทคนิคทางการวัด และการดูแลคุณภาพของเครื่องมือวัด ให้มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้ขั้นตอนการทำ Quality Control มีศักยภาพมากขึ้นและได้มาตรฐาน อีกทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
 
เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจขั้นตอนการช่วยเหลือของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ M Report ขอยกกรณีตัวอย่าง บริษัท พี.เอ็ม.ซี.กรุ๊ป จำกัด ที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้ให้การเข้าไปในความช่วยเหลือ
ในการให้ความช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ พี.เอ็ม.ซี.กรุ๊ป จำกัด ทางสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเริ่มจากการเข้าไปทำการตรวจสอบและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตดังกล่าว ซึ่งปัญหาของบริษัทดังกล่าวมีอยู่ 3 ข้อด้วยกันคือ 
 
  1. เนื่องจากชิ้นงานที่ผลิตมานั้นมีขนาดใหญ่ทำให้เกิดปัญหาในการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงาน 
  2. ด้วยชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ทำให้เกิดความยากลำบากในการขนย้ายชิ้นงานเพื่อนำไปตรวจสอบ 
  3. ในการตั้งค่าเครื่อง Machine แต่ละครั้งนั้นต้องตั้งค่าใหม่ทุกครั้งทำให้เสียเวลามาก 
 
เมื่อสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติพบปัญหาดังกล่าวของผู้ประกอบการแล้ว ทางทีมวิจัยของสถาบันฯจึงได้พัฒนาระบบการวัดผลเครื่องจักรกลหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า On Machine Verification ชื่อย่อว่า OMV โดยนำระบบ หัวอ่าน และชุดอ่านสายสัญญาณมาประกอบร่วมกับเครื่องจักรกล แล้วดึงค่าของแต่ละแกนมาประมวลผลในแต่ละตำแหน่งออกมา
ทามทีมวิจัยจึงทำการติดตั้งอุปกรณ์ที่เรียกว่า Rotary encoder เพื่ออ่านค่าสัญญาณระหว่างแต่ละแกน โดยมีทั้งหมด 3 แกน พร้อมกับดึงค่าสัญญาณของเครื่องมือวัด Renishaw ที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้ว เข้ามาในชุดประมวลผลพร้อมกับต่อเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟท์แวร์ Polyworks ซึ่งสามารถทำเป็นระบบ OMV ขึ้นมาได้ และเมื่อติดตั้งระบบนี้ให้กับ Machine ของผู้ประกอบการแล้ว ทำให้สามารถได้รับความถูกต้องของระบบอยู่ที่ 20 ไมโครเมตรตามที่ผู้ประกอบการต้องการ
หลังจากที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้เข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาระบบการผลิตให้กับบริษัท พี.เอ็ม.ซี.กรุ๊ป จำกัด แล้วนั้น ทางบริษัทฯ พบว่าได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีของสถาบันมาตรวิทยาเป็นอย่างมาก ดังนี้
 
  1. จากเครื่อง CNC 1 ตัวสามารถกลายเป็นเครื่อง CMM ที่สามารถช่วยให้ พี.เอ็ม.ซี.กรุ๊ป ประหยัดงบประมาณการลงทุนซื้อเครื่อง CMM ขนาดใหญ่ ซึ่งมีราคาสูงมากลงได้
  2. สามารถลดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาการผลิตได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ 
  3. อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจ ว่าชิ้นงานมีคุณภาพตามที่ลูกค้ากำหนดทำให้และกระบวนการผลิตสามารถ Flow ไปได้อย่างต่อเนื่อง
 
และนี่คือหนึ่งในตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา ของสถาบันมาตรวิทยา ที่นอกจากจะได้ความถูกต้องและความแม่นยำของชิ้นงานสูงแล้ว ผู้ประกอบการยังประหยัดเวลาในขั้นตอนการผลิต สามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นและแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆได้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา นี้ ทางสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมีความยินดีที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกท่านโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
 
หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจที่จะเข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพในการผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://smes.nimt.or.th/  หรือติดตามข่าวสารอื่นๆจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้ทาง เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/NIMT2541/ 
 
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณประสิทธิ์ บุบผาวรรณา – พนักงานประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานสือสารองค์การ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ