"โตโยต้า" ปูพรมรง.แบตเตอรี่เลิกนำเข้า/ชูธงลุยปลั๊กอินไฮบริด-อีวี

อัปเดตล่าสุด 17 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 488 Reads   

โตโยต้าฉลองผลิตครบ 10 ล้านคัน ประกาศลุย "ไฮบริด" เต็มสูบ ด้วยเม็ดเงิน 2 หมื่นล้าน ใช้ไทยเป็นฐานผลิตใหญ่ เลิกนำเข้าแบตเตอรี่ ผุดโรงงานผลิตเองภายใน 3 ปี ก่อนขยายไปสู่ "ปลั๊ก-อิน ไฮบริด" 

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น/กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยแผนรุกตลาดต่อจากนี้ จะมุ่งเน้นกลุ่มรถยนต์ไฮบริดอย่างเต็มที่ ด้วยเม็ดเงิน 2 ล้านบาทตามที่ได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอไปก่อนแล้ว และมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อลดการนำเข้าจากญี่ปุ่น และแก้ปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของโลก

"กลุ่มรถไฮบริดตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการผลิตแล้ว ได้แก่ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ แต่แบตเตอรี่ยังต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นไปพลางก่อน โดยจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนกว่าแผนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่จะลุล่วง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 3 ปี"

เช่นเดียวกับนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวยืนยันว่า โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งใช้เทคโนโลยีไฮบริดเป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้แนวคิด "คอมมอนแพลตฟอร์ม" โดยได้แนะนำคัมรี ไฮบริด และซี-เอชอาร์ ออกสู่ตลาดไปแล้วส่วนการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ นอกจากตอบสนองกลุ่มรถไฮบริดแล้ว ยังสามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่ปลั๊ก-อิน ไฮบริด แต่ถ้าจะพัฒนาไปสู่รถอีวี จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมอีกระดับหนึ่ง

นายนินนาทยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนารถอีวีสิ่งสำคัญที่สุดคือแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีราคาค่อนข้างสูง และมีน้ำหนักมาก สัดส่วนราคาน่าจะเป็น 40% ของตัวรถอีวี และการชาร์จไฟแต่ละครั้งยังวิ่งได้ในระยะทางไม่ไกลมากนัก

"ถ้าเทียบแบตเตอรี่รถอีวีมีขนาดใหญ่กว่ารถปลั๊ก-อิน ไฮบริดถึง 4 เท่า เรายังอยู่ในช่วงพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และสามารถวิ่งในระยะทางที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกอย่างน้อย 3-5 ปี จึงจะได้เห็นความชัดเจน ประกอบกับโตโยต้ายังเน้นกลุ่มรถไฮบริดเป็นพื้นฐานในการทำตลาด ควบคู่ไปกับการเดินหน้าสร้างการรับรู้ และทำความเข้าใจให้กับผู้บริโภคถึงประโยชน์และลักษณะการใช้งานของรถอีวี"

ล่าสุดโตโยต้าได้ฉลองยอดผลิตครบ 10 ล้านคันในประเทศไทยหลังจากโตโยต้าได้เข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงานแห่งแรกเมื่อปี 2505 จากจุดเริ่มต้นของกำลังผลิตเพียงวันละ 2 คัน เพิ่มขึ้นมาเป็น 3,000 คันในปัจจุบัน มีโรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่ง คือ โรงงานประกอบรถยนต์สำโรง จ.สมุทรปราการ โรงงานประกอบรถยนต์เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา และโรงงานประกอบรถยนต์บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 

สำหรับการผลิตรถยนต์ 10 ล้านคันของโตโยต้าประเทศไทยนั้น แบ่งเป็นจำหน่ายในประเทศ 5.8 ล้านคัน และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 4.2 ล้านคัน สร้างรายได้มาสู่ประเทศไทยได้มากกว่า 2,589,000 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งด้านการผลิตบุคลากร ส่งเสริมการจ้างงาน พร้อมทั้งตอบสนองภาครัฐในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกต่อไป

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รถอีวีจะสามารถเกิดขึ้นและพร้อมใช้งานต้องใช้เวลา 3-5 ปี หรือมากกว่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ชัดเจนได้ เนื่องจากเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง ซึ่งภาครัฐจะส่งเสริมในแง่ของการสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชน 

สำหรับการเปลี่ยนผ่านจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ปลายทางคือมุ่งไปสู่อีวี แต่ตอนนี้เริ่มจากไฮบริดก่อน แต่ละประเทศจะมีสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ไม่สามารถอ้างอิงได้ ต้องให้เวลา สิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นหลังจากนี้คือ การลงทุนทำแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีระดับสูงในประเทศไทย 

ปัจจุบันประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 2 ล้านคันต่อปี แบ่งเป็นส่งออก 1 ล้านคัน และขายในประเทศ 1 ล้านคัน