โควิดทุบ ‘อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน’ ส่อแวววิกฤต

อัปเดตล่าสุด 12 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 1,533 Reads   

หลังจากการเติบโตต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ภาคอุตสาหกรรมจึงคาดการณ์ว่า อนาคตของอุตสาหกรรมการบินจะเต็มไปด้วยความสดใส และเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในธุรกิจอากาศยาน หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมอากาศยานหยุดชะงัก ด้วยจำนวนเที่ยวบินที่ลดลง และการปิดกิจการของสายการบิน ผู้ผลิตอากาศยานจำต้องปรับลดยอดการผลิตจากเดิม ซึ่งเมื่อรวมกับการประกาศขายหุ้นสายการบินของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลก ยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในธุรกิจการบินและอากาศยานลดลงเป็นอย่างมาก

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) รายงานว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางและขนส่งทางอากาศทั่วโลกลดลงรวม 52.9% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2006 โดยเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ความต้องการลดลงมากที่สุดถึง 59.9%  Mr. Alexandre de Juniac ผู้อำนวยการ และ CEO IATA แสดงความเห็นว่า “ความต้องการที่ลดลงเป็นอย่างมากในครั้งนี้เทียบเท่าปี 2006 แต่สถานการณ์ในครั้งนี้รุนแรงกว่ามาก เนื่องจากจำนวนอากาศยาน และลูกจ้างของสายการบินทั่วโลกรวมแล้วมีมากกว่าเมื่อปี 2006 ถึง 2 เท่า ซึ่งเราคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะรุนแรงขึ้นหลังจากนี้ และจะใช้เวลานานจึงจะฟื้นตัวกลับมาได้”

IATA คาดการณ์ว่า ในปี 2020 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะสูญเสียรายได้มากถึง 3.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อน 55% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศ และความต้องการเดินทางที่ลดลง ซึ่ง Mr. Conrad Clifford รองประธาน IATA แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “จะมีสายการบินล้มละลายอีกมากหากรัฐบาลไม่เข้าช่วยสนับสนุนทางการเงิน พร้อมย้ำถึงความสำคัญที่สายการบินมีต่อเศรษฐกิจ ซัพพลายเชน และสิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างแรกหลังสิ้นสุดโควิด-19 คือการสนับสนุนสายการบินเพื่อเชื่อมต่อฮับอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกเข้าด้วยกันใหม่อีกครั้ง”

นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานบริษัท Berkshire Hathaway และนักลงทุนชื่อดัง ได้แถลงผ่านการประชุมใหญ่ประจำปี 2020 ของผู้ถือหุ้นบริษัท Berkshire Hathaway กลุ่มบริษัทโฮลดิ้งข้ามชาติสัญชาติอเมริกันว่า ได้ทำการขายหุ้นของสายการบินใหญ่เครือสหรัฐฯ ประกอบด้วย United Airlines, Delta Air Lines, American Airlines, และ Southwest Airlines ที่บริษัทถือไว้ออกสู่ตลาดแล้วทั้งหมดในวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา  ทำให้ความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมการบินก็ยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นไปอีก 

Photo: Warren Buffett and the 2020 Berkshire Hathaway Annual Shareholders Meeting/Yahoo Finance

“ผมคิดว่าอุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่มั่นคง แต่โชคไม่ดีที่ในบรรดาอุตสาหกรรมทั้งหลายนี้ อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบที่รุนแรงเหนือการควบคุม ซึ่งผมไม่รู้ว่าในอนาคตอีก 2 - 3 ปีจากนี้ไป ผู้คนจะยังเดินทางด้วยเครื่องบินมากเท่าที่ผ่านมาหรือไม่ และอนาคตที่ไม่มั่นคงนี่เอง ที่บอกผมว่าธุรกิจอากาศยานในอนาคตมีแต่ความไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ความผิดของสายการบินแต่อย่างใด”

นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวในการประชุมว่า เดิมที Berkshire Hathaway ได้ลงทุนเป็นเงิน 7 - 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งรวมถึงการเข้าถือหุ้นของ 4 สายการบินใหญ่ค่ายสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 สายการบินล้วนมีรายได้ลดลงทั้งสิ้นในไตรมาสแรกปี 2020 ทำให้บริษัทขายหุ้นทิ้งทั้งหมดในมูลค่าราว 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ซึ่งเมื่อสายการบินประสบวิกฤตเช่นนี้ อุตสาหกรรมอากาศยานเองจึงมีแนวโน้มไม่แตกต่างกัน โดย Airbus ประกาศลดกำลังผลิตลงจากเดิม 1 ใน 3 ในขณะที่ Boeing รายงานว่าความต้องการอากาศยานที่ลดลง ทำให้คำสั่งซื้อที่เข้ามาแล้ว รวมถึงกำหนดการจัดส่งเดิมถูกชะลอออกไป รวมถึงการซ่อมบำรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอากาศยานที่มีออเดอร์ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเครื่องบินไม่ถูกนำขึ้นบิน ส่งผลให้ Boeing ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลงเป็นอย่างมาก และคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะฟื้นตัวกลับมาเท่าเดิม รวมถึงประกาศลดกำลังผลิตเช่นเดียวกับ Airbus โดยมีกำหนดลดกำลังการผลิตอากาศยานทุกรุ่นของบริษัท ยกเว้น 767 และ 747

Photo: Boeing

Aerospace Industries Association (AIA) สมาคมซึ่งมีสมาชิกเป็นธุรกิจจากอุตสาหกรรมอากาศยานกว่า 300 ราย มีความเห็นสอดคล้องกับ IATA ว่า ภาครัฐควรมีมาตรการออกมาเพื่อรักษาให้อุตสาหกรรมอากาศยานยังคงอยู่ต่อไปได้ โดย AIA ได้ยื่นแนวทาง 4 ข้อ ดังนี้

  1. อัดฉีดงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมชั่วคราว เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และรักษาซัพพลายเชนเอาไว้
  2. สนับสนุนอาชีพเสริมให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมอากาศยาน
  3. สนับสนุนธุรกิจรายย่อยในอุตสาหกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นไม่ขาดแคลน
  4. สนับสนุนภาคการผลิตและซัพพลายเชนต้องไม่ค้างจ่ายค่าแรงของพนักงาน

 

Roland Berger บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธสัญชาติเยอรมัน คาดการณ์ว่า จะมีสายการบินอีกมากต้องล้มละลายเนื่องจากวิกฤตในครั้งนี้ และคาดว่าอุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวได้อย่างเร็วที่สุดคือสิ้นปีนี้ และอย่างช้าคือเริ่มฟื้นตัวในต้นปี 2022 ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

Roland Berger แสดงความเห็นว่า ในภาคอุตสาหกรรมอากาศยาน ธุรกิจแรกที่จะได้รับผลกระทบคือ Maintenance Repair Operation (MRO) เนื่องจากอากาศยานหลายพันลำทั่วโลกไม่ถูกใช้งาน ทำให้การซ่อมบำรุง และการดูแลรักษาหลังการบินไม่เกิดขึ้น ถัดจากนั้น จึงเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนอากาศยาน เนื่องจากไม่มีชิ้นส่วนเสื่อมสภาพที่ต้องเร่งทดแทน อย่างไรก็ตาม หากสายการบินกลับมาให้บริการแล้ว MRO จะเป็นธุรกิจต้น ๆ ที่ได้รับผลประโยชน์ ในทางกลับกัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสายการบินอาจนำชิ้นส่วนจากอากาศยานลำอื่นมาใช้เป็นชิ้นส่วนสำรองทดแทนการจัดหาใหม่จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น 

ส่วนอากาศยานใหม่นั้น เดิมทีบริษัทคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2020-2030 จะมีความต้องการอากาศยานใหม่ทั่วโลกจำนวน 21,760 ลำ อย่างไรก็ตาม วิกฤตในครั้งนี้ ทำให้เป็นที่แน่นอนว่า สายการบินที่ประสบปัญหาการเงิน จะชะลอออเดอร์อากาศยานออกไปจากเดิม การทดแทนอากาศยานที่เสื่อมสภาพก็จะล่าช้าออกไปอีก ซึ่งเมื่อรวมกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ที่ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างมากในช่วงนี้แล้ว เป็นไปได้ว่า สายการบิน อาจเลือกใช้อากาศยานโมเดลเก่า แทนการจัดหาอากาศยานโมเดลใหม่ที่ประหยัดเชื้อเพลิงก็เป็นได้ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงการระบาดของโรค และเศรษฐกิจแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า ความต้องการอากาศยานใหม่ อาจลดลงได้อย่างน้อยที่สุดคือ 4% และอย่างมากที่สุดคือ 50% ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งในกรณีที่มีความต้องการเดินทางลดลงอย่างมากนั้น เป็นไปได้ว่า สายการบิน อาจะเลือกจัดหาอากาศยานขนาดเล็ก ที่มีต้นทุนต่อเที่ยวต่ำกว่า

Roland Berger เชื่อว่า อุตสาหกรรมอากาศยานมีแนวโน้มการพัฒนาในช่วงวิกฤต และหลังวิฤตอยู่ 2 แนวทางใหญ่ ดังนี้

  1. การเติบโตของ OEM ผู้ผลิตแต่ละรายจะรับผลิตชิ้นส่วนหลายประเภทขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงในซัพพลายเชน ลดการพึ่งพิงซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่งลง
  2. ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-1 จะผลิตชิ้นส่วนหลายประเภทมากขึ้น เกิดการรวมกลุ่มบริษัทมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการได้มากกว่าที่ผ่านมา 

 

ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมอากาศยานขณะนี้ คือการรักษาความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจไว้ หรือการเรียกร้องการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้รอดพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงร่วมหาแนวทางที่จะเป็น New Normal สำหรับอุตสาหกรรมอากาศยาน เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้หลังจากนี้ไป

อ่านต่อ
Airbus ผู้ผลิตอากาศยาน ประกาศลดเป้าผลิต เซ่นพิษโควิด