อุตสาหกรรม Flash Memory เดือด เมื่อการเสียชีวิตของประธานซัมซุงอาจเป็นโอกาสเดียวในการขึ้นชิงอันดับ 1

อุตสาหกรรม Flash Memory เดือด เมื่อการเสียชีวิตของประธานซัมซุงอาจเป็นโอกาสเดียวในการขึ้นชิงอันดับ 1

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 647 Reads   

อุตสาหกรรมหน่วยความจำแฟลช (Flash Memory) ชิ้นส่วนสำคัญในคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิดกำลังมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อการเสียชีวิตของนายอี ก็อน-ฮี ประธานบริษัท Samsung อาจกลายเป็นโอกาสเดียวในการขึ้นชิงตำแหน่งอันดับ 1 ในตลาดโลก

การเสียชีวิตของนายอี ก็อน-ฮี ประธานบริษัท Samsung Electronics เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้สร้างความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะหน่วยความจำแฟลช เนื่องจากไม่เพียงแค่ Samsung จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นถึงเจ้าตลาดที่ครองส่วนแบ่ง 35.9% ในปี 2019 และสามารถแซงหน้าอดีตเจ้าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ และจอภาพอย่างญี่ปุ่นได้สำเร็จ

Samsung ประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นสู่เวทีโลกผ่านเม็ดเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม นายอี แจ-ยง ลูกชายคนโต และทายาทของบริษัทฯ อาจต้องเสียภาษีจากการรับมรดกมากถึง 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า Samsung Group อาจจำเป็นต้องขายหุ้นบางส่วนออกไป ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจการตัดสินใจในบริษัทฯ ของตระกูลอีลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

และในสถานการณ์เช่นนี้เองที่หลายฝ่ายต่างตื่นตัว รวมไปถึงนายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้มุ่งปฏิรูปแชโบล หรือกลุ่มธุรกิจขนาดยักษ์ของเกาหลี ซึ่งมีข่าวลือว่าจะโอนกิจการของ Samsung มาเป็นของรัฐ ซึ่งแม้จะยังไม่มีการยืนยัน แต่ช่วงเวลานี้เองที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และหน่วยความจำแฟลชอื่น ๆ เล็งเห็นว่า เป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวที่บริษัทตนจะสามารถแข่งขันกับ Samsung ได้

Kioxia Holdings ผู้คิดค้นหน่วยความจำแฟลช เจ้าของส่วนแบ่งลำดับ 2 ในตลาดโลก หรือที่เคยรู้จักในนาม Toshiba Memory Holdings เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความเคลื่อนไหว โดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม Kioxia ได้ตัดสินใจเร่งกำหนดการสร้างอาคารใหม่ที่ Yokkaichi Plant จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น จากเดือนกันยายน ขึ้นมาเป็นช่วงต้นปี 2021 เพื่อให้เป็นฐานการผลิตหน่วยความจำแฟลชแบบ NAND (NAND Flash Memory) ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ด้วยเงินทุน 3 แสนล้านเยน หรือราว 2,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าเมื่อรวมค่าใช้จ่ายด้านเครื่องจักรแล้วเสร็จจะขึ้นไปอยู่ที่ 1 ล้านล้านเยน หรือราว 9,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Kioxia Yokkaichi Plant

เดิมที Kioxia มีแผนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) กระดานที่ 1 ภายในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้ประกาศเลื่อนออกไปเป็นเดือนมกราคม 2021 เนื่องจากต้องการรอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มตลาดหลักทรัพย์หลังการเลือกตั้งก่อน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องแสดงความเห็นว่า แม้ Kioxia จะเข้าสู่กระดานแรกได้ แต่ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ต่างไปจากบริษัทแม่อย่าง Toshiba เนื่องจากหาก Kioxia ไม่สามารถเข้าสู่กระดานแรกได้ภายในเดือนมกราคม 2021 แล้ว บริษัทฯ อาจต้องรอถึงปีถัดไป เนื่องจากไตรมาสแรกเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการหน่วยความจำจะลดลงต่ำที่สุดในรอบปี จึงเป็นไปได้ว่า Toshiba ที่ให้คำมั่นในการจ่ายเงินปันผลส่วนใหญ่ให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งกว่า 70% เป็นนักลงทุนต่างชาติจะกดดันให้ Kioxia เข้ากระดานที่ 1 โดยเร็ว

SK Hynix เป็นอีกรายที่ถูกจับตาในฐานะผู้ผลิตชิปอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ในตลาดหน่วยความจำแฟลช ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้นของ Intel เป็นมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำหนดซื้อขายแล้วเสร็จภายในปี 2025 ซึ่งหากซื้อขายแล้วเสร็จบริษัทจะกลายเป็นผู้เล่นอันดับ 2 ในตลาดโลกแทน Kioxia นอกจากนี้ SK Hynix ยังมีหุ้นกู้ และสิทธิ์ในซื้อหุ้นของ Kioxia อยู่ และคาดการณ์ว่าจะถือครองหุ้นได้มากถึง 15% หาก Kioxia เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์กระดานแรกได้

อย่างไรก็ตาม แม้ SK Hynix จะมีเป้าหมายในการแข่งขันกับ Samsung ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้เช่นเดียวกัน แต่ในภาคอุตสาหกรรมแล้วชื่อเสียงของ SK Hynix ไม่ค่อยดีนัก โดยผู้เกี่ยวข้องได้แสดงความเห็นว่าในการจัดอันดับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเกาหลีใต้ SK Hynix ยังเป็นรอง Samsung และ LG อยู่
และด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจับตามอง SK Hynix เป็นพิเศษ และมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะหาทางป้องกันการเข้าถือหุ้น Kioxia ผ่านกองทุนองค์กรส่งเสริมนวัตกรรมของญี่ปุ่น หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น

อีกบริษัทที่มีความเคลื่อนไหวในช่วงนี้คือ Yangtze Memory Technologies บริษัทในเครือ Tsinghua Unigroup ซึ่งเป็นธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่จากจีน และได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวนมากจากภาครัฐเช่นเดียวกับกรณีของ Samsung ในช่วงที่มีการเติบโตสูง ทำให้น่าเฝ้าดูว่า บริษัทนี้จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดหน่วยความจำเช่นเดียวกับ Samsung ได้หรือไม่