แนวโน้มอุตสาหกรรม ยุครัฐบาลไบเดน

จับตา แนวโน้มอุตสาหกรรมในยุครัฐบาลไบเดน

อัปเดตล่าสุด 12 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 512 Reads   

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้รับความสนใจจากจากทั่วโลก ซึ่งชัยชนะของนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ย่อมนำมาซึ่งแนวทางการบริหารที่ต่างไปจากสมัยรัฐบาลทรัมป์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาโควิด และสงครามการค้า ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้แสดงความเห็นและคาดการณ์ต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมไว้ ดังนี้ 

อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตสูงในยุคไบเดน

อุตสาหกรรมยานยนต์ ถูกคาดการณ์ว่าหลังนายไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการทบทวนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการถอนตัวจากความตกลงปารีสในสมัยรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะมีการกลับเข้าร่วมความตกลงฯ ซึ่งอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบที่สุดก็คือยานยนต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณจากระยะเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนายานยนต์แล้ว นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายได้อย่างเห็นชัดหลังปี 2026 เป็นต้นไป

สำนักวิเคราะห์ตลาดยานยนต์ MarkLines รายงานว่า ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ผลักดันนโยบายต่าง ๆ จนราคาน้ำมันมีความคงที่ ส่งผลให้เกิดความต้องการยานยนต์ขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งในปี 2019 รถกระบะ และรถปิคอัพมีสัดส่วนยอดขายคิดเป็น 72% ในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2016 มากถึง 12% ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมขึ้น บริษัทที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles: HV) ย่อมได้รับผลประโยชน์ในช่วงต้นอย่างแน่นอน

ส่วนในระยะยาว ผู้ผลิตยานยนต์ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากนายไบเดนมีแนวทางด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนสวนทางกับรัฐบาลทรัมป์ ด้วยการประกาศสร้างสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า 500,000 แห่งทั่วประเทศเพื่อจูงใจผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

คาดการณ์ว่า ผู้ผลิตที่จะได้รับผลประโยชน์จากการบริหารของนายไบเดนในระยะยาวคือ Tesla, General Motors, และ Nissan ซึ่งเป็นไปได้ว่า หากสามารถดำเนินนโยบายได้ตามเป้าแล้ว นอกจากค่ายรถผู้ผลิตรายย่อยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็จะได้รับผลประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นเดียวกัน

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์

สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์จับตามอง คือ รัฐบาลในสมัยไบเดนจะมีแนวทางอย่างไรต่อกรณีการแบนหัวเว่ย (Huawei) ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายไม่สามารถซัพพลายเทคโนโลยีให้กับหัวเว่ยได้

แน่นอนว่าหากมีการผ่อนปรน หรือยกเลิกนโยบายแบนหัวเว่ยแล้ว บริษัทที่ได้รับผลประโยชน์ย่อมเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ เช่น Sony ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเซนเซอร์รูปภาพ (Image Sensor), ผู้ผลิต Flash Memory อย่าง Kioxia, และอื่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทมีลูกค้ารายใหญ่ที่สุดคือ Apple ซึ่งหากรัฐบาลผ่อนปรนการซัพพลายชิ้นส่วนให้กับหัวเว่ยได้ Apple ย่อมต้องประสบกับการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนที่รุนแรงยิ่งขึ้น จึงคาดการณ์ได้ยากว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะยกเลิกการแบนหัวเว่ยได้หรือไม่

นอกจากนี้ Sony ยังรายงานว่า แม้จะสูญเสียยอดออร์เดอร์จากหัวเว่ยไป แต่ก็เริ่มได้รับออร์เดอร์ใหม่จากบริษัทอื่นเข้ามาทดแทน และมีกำหนดเปิดโรงงานใหม่ในประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2021 และเป็นไปได้มากว่า หากมีการยกเลิกการแบนหัวเว่ย Sony อาจไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันความต้องการ

อุตสาหกรรมเหล็ก และโลหะนอกกลุ่มเหล็ก

อุตสาหกรรมเหล็ก และโลหะนอกกลุ่มเหล็ก คาดหวังการพิจารณานโยบายภาษีใหม่

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะนอกลุ่มเหล็ก (Ferrous and Nonferrous metals) อยู่ระหว่างการเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทบทวนมาตรา 232 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งนายทรัมป์นำมาบังคับใช้เก็บภาษี โดยตั้งแต่ปี 2018 รัฐบาลทรัมป์ได้มีการจัดเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม 25% และ 10% ตามลำดับ ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตชิ้นงานโลหะหลายชนิดซึ่งไม่สามารถใช้วัสดุในสหรัฐฯ ทดแทนได้ Mr. Eiji Hashimoto ประธานสหพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าแห่งญี่ปุ่น แสดงความคาดหวังถึงแนวทางที่สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้นจากรัฐบาลยุคไบเดน

อย่างไรก็ตาม มีผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมที่แสดงความเห็นว่านโยบายของไบเดนอาจคาดการณ์ได้ยากกว่าทรัมป์ แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้มากกว่า ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ผลิตนอกสหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ยอมรับว่า หากมีการลดหย่อนภาษีจริง ผู้เสียผลประโยชน์ก็ย่อมเป็นบริษัทสหรัฐฯ เอง

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล

ผู้ผลิตเครื่องจักรกลจับตามองการฟื้นตัวของตลาดจีน

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล (Machine Tools) สิ่งที่ถูกเฝ้าจับตามองมากที่สุดก็คือสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เนื่องจากในปัจจุบันสิ่งที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเดินหน้าต่อไปได้มาจากการฟื้นตัวหลังโควิดของจีน ซึ่งนายไบเดนมีแนวทางให้ความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับทรัมป์นั้น ทำให้การคาดการณ์อนาคตในอุตสาหกรรมนี้เป็นไปได้ยาก และมีแนวโน้มว่าสงครามการค้าจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อไป

Mr. Shinichi Inoue ประธานบริษัท Makino แสดงความเห็นว่า หากสหรัฐฯ ยังมีแนวทางยึดถือประเทศตนเป็นหลักต่อไป เศรษฐกิจก็ย่อมได้รับผลกระทบมากขึ้น และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลยุคไบเดนจะให้ความสำคัญกับการบริหารที่เน้นถึงส่วนรวม และความมั่นคงในระดับสากลเป็นหลัก

ในทางกลับกัน Mr. Yoshiharu Inaba รองประธาน Japan Machine Tool Builder’s Association และประธานบริษัท Fanuc แสดงความเห็นว่า หลังจากนี้จีนจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะไม่ทำให้ความต้องการในภูมิภาคเอเชียเปลี่ยนแปลงมากนัก และมองว่าในภาพรวมแล้ว เอเชียจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของผู้ผลิตเครื่องจักรกลไม่ต่างจากสมัยทรัมป์

ผู้ผลิตเครื่องจักรกลอีกหลายรายได้แสดงความเห็นใกล้เคียงกัน และไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงนโยบายจากที่ผ่านมาแต่อย่างใด โดย Mitsubishi Heavy Industry ได้ยืนยันแผนธุรกิจเดิม และเสริมว่านโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลยุคไบเดน อาจนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจของสินค้า และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้าง

เป็นอีกอุตสาหกรรมที่คาดการณ์ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเริ่มกระตุ้นให้โครงการต่าง ๆ กลับมาดำเนินการต่อ โดยเฉพาะโครงการจากภาครัฐ ส่วนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ถ่านหิน ไปจนถึงเทคโนโลยีทดแทน