Nissan ประกาศหนุน All Polymer Battery เทคฯ แบตลิเธียมไอออนยุคหน้า สู่การผลิตจำนวนมาก

อัปเดตล่าสุด 22 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 5,244 Reads   

แบตเตอรี่โพลิเมอร์ ถูกกล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะมาแทนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในอนาคต ซึ่ง Nissan ผู้ซึ่งมีประสบการณ์พัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ช่วงยุค 1990 ได้ประกาศมอบสิทธิการใช้งานเทคโนโลยีแบตเตอรี่โพลิเมอร์ (All Polymer Battery) ให้กับ APB Corporation ธุรกิจวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อนำเทคโนโลยีขั้นสูงนี้เข้าสู่กระบวนการผลิตจำนวนมากต่อไป ซึ่งจะช่วยให้การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีต้นทุนต่ำและปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยความจุในการชาร์จที่เพิ่มขึ้น

โดยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงของ Nissan ใช้ชื่อว่า “Bipolar Structure All Polymer Battery Technology” ได้พัฒนาโครงสร้างสองขั้วที่กระแสไหลผ่านอินเตอร์เฟซของเซลล์ที่ตั้งฉากกับระนาบอิเล็กโทรด และใช้พอลิเมอร์เป็นวัสดุพื้นฐานทดแทนสารอิเล็กโทรไลต์และขั้วอิเล็กโทรดจากโลหะในแบตเตอรี่ทั่วไป วัสดุอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่โพลิเมอร์จะถูกห่อด้วยโพลิเมอร์เจลที่มีอิเล็กโทรไลต์ ด้านหน้าและด้านหลังของเซลล์แบตเตอรี่เป็นตัวเก็บประจุจากโพลิเมอร์ มีขั้วลบ-ขั้วบวก และนำเซลล์เหล่านี้มาประกอบรวมเข้าด้วยกัน จึงถูกเรียกว่าเป็นแบตเตอรี่แบบโครงสร้างสองขั้ว 

วัสดุโพลิเมอร์นี้ทำให้แบตเตอรี่โพลิเมอร์ (All Polymer Battery) มีความยืดหยุ่นสูงทั้งในด้านขนาดและรูปร่างของเซลล์ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างขั้วไฟฟ้าหนาและเซลล์ขนาดใหญ่ได้ เทคโนโลยีนี้จึงมีความปลอดภัยสูงกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป อีกทั้งมีความซับซ้อนต่ำ ใช้ชิ้นส่วนน้อยลง จึงสามารถทำให้ราคาถูกลง และชาร์จไฟได้ดียิ่งขึ้น

คาดการณ์ว่า นอกจากการนำแบตเตอรี่โพลิเมอร์มาใช้เป็นแบตเตอรี่ทั่วไปแล้ว แบตเตอรี่โพลิเมอร์ยังสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรอง หรือใช้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม เช่น ใช้เก็บพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักในช่วงเวลาที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงในชุมชุน เพื่อให้การส่งกระแสไฟฟ้ามีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น 

APB Corporation อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแห่งแรกที่เมืองฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำการผลิตจำนวนมากในรูปแบบเชิงพาณิชย์  Hideki Kimata รองประธาน APB Corporation กล่าวแสดงความเห็นว่า “เทคโนโลยีนี้จะช่วยในการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวทางของสหประชาชาติอีกด้วย”