แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 2/2563

อัปเดตล่าสุด 10 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 1,097 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 2/2563

เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสถานการณ์ภาวะ เศรษฐกิจโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีน ทั้งนี้ปัจจัย ที่คาดว่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ได้แก่ โครงการก่อสร้างโครงสร้างของภาครัฐ  

ไฟฟ้า คาดว่าจะมีการผลิตและมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.5 และ 4.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศญี่ปุ่น ยุโรปและ สหรัฐอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าให้เกิดการชะลอตัวและเกิดความ ไม่แน่นอนทางด้านอุปสงค์ในระยะยาว อย่างไรก็ตามประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะควบคุมการระบาดฯ ได้ดีทำให้ภาค การผลิตกลับมาดำเนินการได้อาจจะส่งผลให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไทยซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตในการผลิตสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าฟื้นตัวเพิ่มขึ้น  

อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากหลายประเทศในแถบเอเชียสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้รวมทั้งประชากรส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้าน และสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล จึงทำให้เกิดความต้องการใช้ Hard Disk Drive และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อรองรับความต้องการในการใช้งานบน Cloud และ Data Center ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

รถยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 200,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิต เพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50 

รถจักรยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 400,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20  

ปิโตรเคมี คาดว่าดัชนีผลผลิตและการส่งสินค้าอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 – 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้ปิโตรเคมีเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เป็นต้น 

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่าจะได้อานิสงค์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 และการออก พรก.ฉุกเฉิน ที่ให้หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ทำงานจากบ้านเพื่อลดการระบาดของโรค ส่งผลให้มีการสั่งซื้อสินค้าในระบบออนไลน์และสั่งอาหารผ่านระบบเดลิเวอร์รี่มากขึ้น ส่งผลให้สินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์ ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวต่อเนื่อง  

เซรามิก คาดว่ามีแนวโน้มหดตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้บางประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้า มีนโยบายปิดเมือง ปิดประเทศ รวมทั้ง การชะลอคำสั่งซื้อ จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังการผลิตและแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาความ ยุ่งยากและความล่าช้าในขนส่งสินค้า แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ แนวโน้มการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกอาจจะกลับมาค่อย ๆ ขยายตัวได้ดีขึ้นตามความต้องการของการบริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต และต้นทุนในการขนส่งลดต่ำลงด้วย  

ปูนซีเมนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิต และการจำหน่าย คาดว่า อาจจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และถูกกระทบเพิ่มเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม และการดำรงชีวิตของ ประชาชนไม่สามารถทำได้ตามปกติจากการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 มีผลให้ประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ และเกิดความไม่แน่ใจในสภาวะทางเศรษฐกิจในอนาคต จึงชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ออกไป  

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะชะลอตัวตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงชะลอตัว  

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตคาดว่าจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับทิศทางการส่งออกไม้และ ผลิตภัณฑ์ไม้ตามแนวโน้มการปรับลดลงของคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีสาเหตุจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

ยา คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.89 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับตลาดส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ดีในกัมพูชา ฟิลิปปินส์และจีน 5 

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 2.58 ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศและเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การผลิตถุงมือยางคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.99 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ทางการแพทย์ที่สูงขึ้น สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมคาดว่าจะขยายตัวมากกว่า ร้อยละ 10.00 เนื่องจากฐานตัวเลขของปีก่อนค่อนข้างต่ำ 

รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่าการฟอกและตกแต่งหนังฟอกจะมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบให้โรงงานในประเทศคู่ค้าต้องหยุดการผลิต ถึงแม้ว่าจะมีโรงงาน บางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ รวมถึงผลจากการหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางและรองเท้า มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น จากความต่อเนื่องของคำสั่งซื้อในประเทศ อีกทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออก  

อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2563 คาดว่าการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมมีทิศทางลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกถึง ร้อยละ 80 สำหรับแนวโน้มการส่งออก (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีทิศทางลดลงตามการผลิต อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอาจส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออก โดยก่อนหน้าที่จะมีการระบาดฯ การส่งออกมีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึง มกราคม 2563 

อาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 จะหดตัวมากเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลงจากปัญหาภัยแล้ง เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมันสำปะหลัง ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน อย่างไรก็ตาม ไทยน่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่ง สำเร็จรูป ทูน่าและซาร์ดีนกระป๋อง) ขยายตัวตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการรักษาระดับความมั่นคงด้านอาหาร สำหรับมูลค่าการส่งออกไตรมาสที่ 2 ปี 2563 อาจจะทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย ตามความต้องการบริโภคและสำรองอาหารในต่างประเทศ แต่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ประเทศที่ส่งผลโดยตรงต่อ Food service ในสินค้าสำคัญ เช่น (1) ไก่เนื้อ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ จาก EU ที่มีแนวโน้มจะปรับลดการนำเข้าไก่เนื้อจากประเทศที่ 3 (บราซิล ไทย และยูเครน) จำนวน 850,000 ตัน เนื่องจากปัญหาอุปทานส่วนเกิน (2) น้ำตาล อาจจะได้รับผลกระทบจากผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ เช่น บราซิล จะใช้ อ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลมากขึ้น และลดการผลิตเอทานอลลง ตามความต้องการใช้น้ำมันทั้งโลกในปี 2563 ที่คาดว่าจะ ลดลงประมาณร้อยละ 20 - 30 จากปี 2562 เนื่องจากระบบการขนส่งและการเดินทางที่ลดลงจากมาตรการ Lockdown ประกอบกับปริมาณการบริโภคน้ำตาลอาจจะลดลงมากกว่า 2 ล้านตันต่อปีเนื่องจากการปิด Food service (การบริโภคของทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 175 ล้านตันต่อปี)