อานิสงส์โควิด 3 อุตสาหกรรมไทย ขยายตัวรับ New Normal

อานิสงส์โควิด 3 อุตสาหกรรมไทย โตต่อเนื่อง รับ New Normal

อัปเดตล่าสุด 17 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 490 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผย 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก เนื่องจากตอบสนองความต้องการสินค้าภายใต้วิถีใหม่ (New Normal) ประกอบกับแนวโน้มจากการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้ทั้งสามอุตสาหกรรมหลักสามารถขยายตัวได้เต็มที่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักของไทยได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งการเว้นระยะห่างทางกายภาพและลดการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นให้มากที่สุด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและพฤติกรรมเดิม ๆ เข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคทำให้เกิดความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้น จึงทำให้ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก
 
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า  การดำรงชีพภายใต้ชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal ได้ส่งผลให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจในสินค้าที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และจีน เช่น หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค มกราคม - พฤษภาคม 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.50%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home รวมถึงสถานศึกษาที่ได้จัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้สินค้า Hard disk drive และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อรองรับความต้องการใช้งานบน Cloud และ Data center เพิ่มขึ้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มกราคม - พฤษภาคม 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.02%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียและเวียดนามมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รวม 5 เดือน ในปี 2563 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 8.46 และ 0.93 ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน
 
อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับอานิสงส์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศเนื่องจากเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต ส่งผลให้มีการขยายการผลิตในหลายผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่เก็บรักษาได้นาน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม  (MPI)ในอุตสาหกรรมอาหาร มกราคม - พฤษภาคม 2563 ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.88%, สัตว์น้ำแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.41%, สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.85%, และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.07% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารยังมีอุปสรรค ได้แก่ ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรลดลง เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมันสำปะหลัง ทำให้วัตถุดิบในบางผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดของต่างประเทศได้ส่งผลต่อธุรกิจให้บริการด้านอาหาร ทำให้สินค้าประเภทไก่เนื้อและน้ำตาลในประเทศไทยมีคำสั่งซื้อลดลง 
 
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภายหลังจากโรงงาน ซัพพลายเออร์ และธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดตัว ส่งผลต่อการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเพิ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ถูกหยุดชะงักตามมาตรการควบคุมโรค โดยมองว่าอุตสาหกรรมไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวต่อเนื่องหากไม่มีการระบาดซ้ำ หรือกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคในระยะที่ 2 โดยเฉพาะใน 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวต่อเนื่องและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง”