เซ็นสัญญาอู่ตะเภา เมืองการบินภาคตะวันออก EEC BBS

เซ็นแล้ว! 'อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก' เฟสแรกเสร็จปี 67

อัปเดตล่าสุด 23 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 8,098 Reads   

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในพิธีลงนาม เซ็นสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ยื่นข้อเสนอเงินประกันขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุด เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 

โดยผู้ร่วมลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ฯ ประกอบด้วย พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 
 
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี
 
นอกจากนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย  โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
 
นายคณิศ แสงสุพรรณ กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท แต่เป็นโครงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรก เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง เพิ่มเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
 
“เมื่อผสานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะก่อให้เกิดการลงทุนในมิติต่างๆ ทั้งจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมาสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทยทุกคน” นายคณิศ กล่าว

พื้นที่ของโครงการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินตะวันออก อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อยู่ใกล้พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาที โครงการนี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร ซึ่งสามารถให้อากาศยานขึ้นลงทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกัน และสามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด โดยมีหลุมจอดอากาศยานรวมทั้งสิ้น 124 หลุมจอด ในส่วนของอาคารผู้โดยสาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะแล้ว จะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ภายในอาคารมีการติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัย เช่น ระบบการ Check-in อัตโนมัติ (Smart Airport) ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automate People Mover, APM) นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้าง Air Traffic Control Tower หรืออาคารหอบังคับการบิน โดย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สามารถให้บริการการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
 
ในส่วนขององค์ประกอบหลักอื่น ๆ ได้แก่ คลังสินค้า, Cargo Village และ Free Trade Zone มีขนาดพื้นที่กว่า 470,000 ตารางเมตร ประมาณการขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center, GTC) มีขนาดพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร เพื่อให้การเดินทางในรูปแบบต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถบัส แท็กซี่ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ พื้นที่กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงานสนับสนุนอื่น ๆ บนพื้นที่ ขนาด 1,400 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ โรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย และบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน
 
นอกจากองค์ประกอบหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่ดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็น Aviation Hub ของโครงการฯ คือ Commercial Gateway ขนาดพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร จัดเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรม รวมทั้ง Business Park และ Airport City ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า และอาคารสำนักงาน
 
โดยทางกลุ่ม BBS หรือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์  อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี  ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี ส่วนระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี 
 
ส่วนโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งเป็นทางวิ่งที่มีความยาว 3,500 เมตรนั้น กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ซึ่งเป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EHIA ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงาน EHIA โดยได้จัดการรับฟังความคิดเห็นฯ จากประชาชนโดยรอบโครงการฯ แล้วจำนวน 2 ครั้ง และคาดว่าจะจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งสุดท้ายของกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA ก่อนนำส่งให้ สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปลายเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาต่อไป โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ภายในปี พ.ศ. 2567
 
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 3 บริษัท ผู้มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่หลากหลาย ภายใต้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด 
 
บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส อยู่ในอุตสาหกรรมการบินมานานกว่า 50 ปี บริษัทฯ มีพันธมิตรทางการบินกว่า 100 สายการบินทั่วโลก และดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น อาทิ ครัวการบิน การให้บริการภาคพื้น การให้บริการคลังสินค้า ร้านค้าปลอดอากร รวมถึงธุรกิจสนามบินที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของและบริหารจัดการเองรวม 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด
 
นอกจากประสบการณ์ในการบริหารสนามบินทั้ง 3 แห่ง สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นี้ ทางกลุ่มฯ ได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งคือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นสนามบินชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมบริหารสนามบินอู่ตะเภาด้วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากร การสร้าง และถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการบริหารสนามบินเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล
 
“บริษัท และพันธมิตรฯ มีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาใช้ในการพัฒนาโครงการ ร่วมกับ อีอีซี และกองทัพเรือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามนโยบายและกรอบการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการต่อเนื่องอื่นๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยได้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายพุฒิพงศ์กล่าวสรุป

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือกลุ่มกิจการร่วมการค้าบีบีเอส ได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ กับทางภาครัฐ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ กลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ จากการผนึกกำลังของภาคเอกชนทั้งสามกิจการ ภายใต้ความร่วมมือกันใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่โดดเด่น สามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดคืนให้กับภาครัฐและประชาชน ตลอดจนยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 
จากประสบการณ์ที่มีมากกว่า 20 ปี ในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย และได้เปิดให้บริการมาแล้ว 20 ปีเศษ รวมระยะทางให้บริการปัจจุบันเกือบ 60 กิโลเมตร และยังมีรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง-ชมพู และรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือจะเป็นโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ กลุ่มบริษัทบีทีเอสได้ดำเนินการมาจำนวนมาก นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทบีทีเอส ยังได้ดำเนินธุรกิจด้านสื่อโฆษณานอกบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงทำธุรกิจทางด้าน E-Payments และเทคโนโลยีด้านระบบเก็บเงิน ทำให้เชื่อได้ว่า กลุ่มบริษัทบีทีเอส จะสามารถช่วยสนับสนุนให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถยกระดับสู่ศูนย์กลางมหานครการบิน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation ของ อีอีซี นำไปสู่การเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และด้านการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพจะยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 
“บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชนชาวไทยและขอต้อนรับสู่ประตูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก “Welcome to Our Gateway of EEC” นายสุรพงษ์ กล่าวสรุป

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในนามของบริษัทฯ ถึงการเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ว่า ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้ก่อตั้งโดยความร่วมมือกันของกลุ่มบริษัทพันธมิตรทั้งสามบริษัท ซึ่งแต่ละบริษัท มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ กัน ทั้งในด้านการบิน การบริหารสนามบินมาอย่างยาวนาน การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้บริการ ธุรกิจขนส่งมวลชน และทางด้านงานก่อสร้างที่หลากหลาย จึงไม่แปลกใจเลยว่าในอนาคตสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะมีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรม เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า การขนส่งภาคพื้นดิน มีความสะดวกสบายด้านโลจิสติกส์ การขนส่งระหว่างเมือง มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในเขตจังหวัดภาคตะวันออก อาทิ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด และจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายในนานาประเทศ 
 
ในฐานะที่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ดำเนินการด้านก่อสร้างโครงการ บนเนื้อที่ 6,500 ไร่  ซึ่งประกอบไปด้วยงานอาคาร งานระบบ รวมถึงงานด้านสาธารณูปโภค ซึ่งถือได้ว่า เป็นงานที่มีความท้าทายและมีรายละเอียดสูง โดยเราได้ให้ความสำคัญเน้นในเรื่องของคุณภาพและเวลา บริษัท ซิโน-ไทยฯ มีประสบการณ์ในงานก่อสร้างเมกะโปรเจค มากว่า 58 ปี  เรามีความพร้อมในด้านบุคลากรและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ หากขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยเราสามารถเข้าดำเนินการได้ทันที  
 
“บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มีความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่เป็นผู้ก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมเมืองการบินที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ ผมขอให้ความมั่นใจว่า เราจะทุ่มเทกำลังความรู้ ความสามารถ แรงกายแรงใจ ดำเนินการก่อสร้างสนามบิน อันทรงคุณค่า สง่างาม ด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่ภาคภูมิใจต่อคนไทยทั้งประเทศ” นายภาคภูมิ กล่าวสรุป

 

อ่านต่อ: