อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทย ปี 2022

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยในปี 2022

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ค. 2566
  • Share :
  • 9,285 Reads   

ไม่ว่าจะเป็น Mercedes-Benz มาตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ และขึ้นไลน์ผลิต EQS หรือการตั้งโรงงานผลิตรถอีวีของ GWM, BYD, Foxconn จับมือ ปตท. ไปจนถึงสตาร์ทอัพ Neta Auto ล้วนตอกย้ำก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย

Advertisement

ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยในปี 2022

นับจาก Mercedes-Benz ประกาศตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ที่สมุทรปราการ ถือเป็น 1 ใน 7 โรงงานแบตเตอรี่ของเบนซ์ทั่วโลก และขึ้นไลน์ผลิต EQS ในปลายปี 2022 ได้แสดงถึงความสำคัญของประเทศไทยสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่งมอบให้กับตลาดในภูมิภาค

โดย EQS เป็นแฟลกชิปโมเดลในกลุ่ม EV ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ พัฒนาบนแพลตฟอร์ม EV โดยเฉพาะ ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งสามารถวิ่งได้ไกล 770 กม.จากแบตเตอรี่ความจุ 107.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทย ปี 2022

นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตรถยนต์อื่น ๆ เช่น Toyota Motor ของญี่ปุ่น รวมถึง Great Wall Motor, SAIC Motor, และ BYD ของจีน ที่เข้าร่วมนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการจัดจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนที่มีผู้บริโภค 681 ล้านคน

โดย Great Wall Motor ผู้ผลิตรถยนต์​ SUV รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้เข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตรถยนต์ซึ่งเดิมเป็นของ General Motors ในปี 2020 เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาการผลิตในภูมิภาคอาเซียน จากนั้นปีถัดมาได้ทยอยเปิดตัวรถยนต์เอสยูวีไฮบริด Haval H6 และรุ่น ORA Good Cat BEV นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

สำหรับ SAIC ผู้ผลิตยานยนต์ภายใต้แบรนด์ MG และจัดจำหน่ายในประเทศไทยผ่าน SAIC-CP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทในเครือ CP ของไทย ได้ผลักดันยอดขายรถอีวีผ่านไลน์อัพในรุ่น ZS

ด้าน BYD ซึ่งกำลังสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 บนพื้นที่ 600 ไร่ โดยคาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2024 ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกในภูมิภาคอาเซียนและยุโรป

เช่นเดียวกับ Neta Auto สตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่เข้ามาขยายตลาดในไทย และกำลังสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยร่วมมือกับบริษัท บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี จำกัด (BGAC) ซึ่งจะเป็นโรงงานในต่างประเทศแห่งแรกของเนต้า ออโต้ เพื่อผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาในตลาดอาเซียน 

ในขณะที่ Mitsubishi Motor ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายแรกที่เปิดตัวรถยนต์ BEV เมื่อปี 2009 และมีไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ กำลังมุ่งมั่นกับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดในรุ่น Outlander PHEV เพื่อเปลี่ยนสู่ระบบรถพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์นั่งทุกรุ่นในปี 2024

ไม่เพียงเท่านี้ ประเทศไทยกำลังดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Foxconn Technology บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งรู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิต iPhone ของ Apple ได้ร่วมมือกับ ปตท. บริษัทน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ของไทย จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Horizon Plus ด้วยแผนลงทุนมูลค่า 1 ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อรับจ้างผลิตรถยนต์สำเร็จรูปให้ผู้ผลิตรายอื่น โดยใช้แพลตฟอร์มโมดูลาร์และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย Foxconn 

โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของ Horizon Plus ตั้งอยู่บนพื้นที่ 313 ไร่ ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ชลบุรี มีแผนดำเนินการผลิตและส่งมอบรถยนต์ภายในปี 2024

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มุ่งหน้าสู่ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง EA หรือในชื่อเต็ม Energy Absolute ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าตลาด 10,000 ล้านดอลลาร์ กำลังเดินหน้ากับ Mine Mobility ซึ่งมีทั้งรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า กระบะไฟฟ้า รถขยะไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า รวมถึงการเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EA ในปี 2021 

ผู้ประกอบการไทยยังมีสตาร์ทอัพอย่าง MuvMi และผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำอย่างบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ที่เข้ามาเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นมูฟมีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 100% และเรือเร็วไฟฟ้าปลอดมลพิษ 

นโยบาย 30@30 และแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า

โรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย หรือที่เรียกว่า “นโยบาย 30@30” ได้ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV: Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society)

เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบรางอีกด้วย

เป้าหมายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 33,000 คัน รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริม ZEV ในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยได้มีการกำหนดมาตรฐานให้ครอบคลุมยานยนต์และชิ้นส่วนสำคัญ แผนส่งเสริมผู้ประกอบการรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมบุคลากรและพัฒนากำลังคน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอัดประจุ และการส่งเสริมเทคโนโลยีสมาร์ทกริด รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ การจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วและการพัฒนากำลังคน

มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยการลดอัตราหรือยกเว้นอากรขาเข้า การลดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ เพื่อให้ราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ ICE โดยผู้ประกอบการค่ายรถยนต์จะต้องเข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ของรัฐบาลเพื่อรับส่วนลดดังกล่าว

  • เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า 70,000-150,000 บาทต่อคัน ตามรุ่นรถและความจุแบตเตอรี่ และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน 
  • ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าจาก 8% เป็น 2% และรถกระบะไฟฟ้าเป็น 0% มีผลบังคับจนถึงสิ้นปี 2025
  • ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จาก 40% เหลือ 0% หรือมากสุด 40% มีผลบังคับจนถึงสิ้นปี 2023
  • ลดอากรขาเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% ถึงสิ้นปี 2023 ซึ่งมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต้องผลิตชดเชยเฉพาะรุ่นที่นำเข้ามาจนครบตามจำนวนการนำเข้าทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ภายในสิ้นปี 2024 หรือในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ภายในสิ้นปี 2025 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียนตั้งแต่ 9 พฤศจิกายน 2022 - 10 พฤศจิกายน 2025 โดยลดลง 80% ของอัตราภาษีที่กำหนดเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนอีกด้วย

 

#electricvehicles #รถยนต์ไฟฟ้า #อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า #Thailand #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH