วิกฤต MLCC ส่วนประกอบสำคัญของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ขาดตลาด

อัปเดตล่าสุด 21 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 1,468 Reads   

MLCC ชิ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ในเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง 

ปัจจุบัน ตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors: MLCC) ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากความแพร่หลายของ IoT ซึ่งแม้ว่าผู้ผลิต MLCC หลายรายจะเร่งลงทุนเสริมกำลังผลิตแล้ว แต่ก็ไม่อาจตอบสนองต่อปริมาณความต้องการได้ทัน เมื่อรวมกับปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ประเทศญี่ปุ่นอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านนี้ไปก็เป็นได้

โตต่อเนื่อง รถยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัตโนมัติผลักความต้องการพุ่ง

ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายหนึ่ง กล่าวแสดงความเห็นต่อกรณีการขาดแคลน MLCC ว่า “หากไม่มี MLCC เราก็ผลิตสินค้าไม่ได้”

ในอุตสาหกรรมยานยนต์ MLCC ถูกใช้ในฐานะส่วนประกอบสำคัญของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และมีอยู่ในแทบทุกแผงวงจรในรถ เนื่องจากมีความหลากหลายในการนำไปใช้สูง มีส่วนช่วยในการเสริมประสิทธิภาพด้านความมั่นคงในการจ่ายไฟ ป้องกันคลื่นรบกวน และอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ผลิตอย่าง Bosch และ Continental AG จำเป็นต้องสั่งซื้อ MLCC เพิ่มอย่างต่อเนื่อง

Goldman Sachs ประเทศสหรัฐฯ รายงานว่า มูลค่าตลาด MLCC สำหรับยานยนต์ในปีงบประมาณ 2017 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.8 แสนล้านเยน และคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอีก 23% ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าในปีงบประมาณ 2020 อยู่ที่ 4 แสนล้านเยน ซึ่ง Mr. Daiki Takayama นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs วิเคราะห์ว่า “มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่มูลค่าตลาด MLCC สำหรับยานยนต์จะสูงแซงอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน”

ปัจจุบัน มีการคาดการณ์เพิ่มเติมว่าจำนวน MLCC ที่ถูกใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าจะมีมากถึง 6,000 ชิ้น มากกว่าที่ถูกใช้ในสมาร์ทโฟนถึง 6 เท่า และยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการผลิตกล่อง ECU (Electronic Control Unit) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์อื่น ๆ ส่งผลให้ความต้องการจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้

นอกจากนี้ ยังไม่มีท่าทีว่าความต้องการ MLCC ในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนจะลดลงแต่อย่างใด โดย Mr. Yasuo Imanaka นักวิเคราะห์จาก Rakuten ได้ชี้แจงว่า “แม้สมาร์ทโฟนจะเข้าสู่ช่วงซบเซา แต่ด้วยประสิทธิภาพสมาร์ทโฟนที่สูงขึ้น ทำให้ในการผลิตสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง จำเป็นต้องใช้ MLCC มากขึ้นเรื่อย ๆ”

อีกทั้ง MLCC ยังมักถูกติดตั้งพร้อมกับเซมิคอนดัคเตอร์ ทำให้ความต้องการ MLCC สำหรับ Data Center มีความมั่นคง และคาดการณ์ว่าจะมากขึ้นไปอีกในยุค 5G

ด้วยเหตุนี้เอง หาก MLCC ยังคงขาดตลาดเช่นนี้แล้ว อาจส่งผลให้การพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีล่าช้าลงก็เป็นได้

ผู้ผลิตญี่ปุ่นกล่าว “ต้องใช้เวลา”


ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ผลิตแต่ละรายต่างจำเป็นต้องมีวิธีการรับมือ เช่น Murata Manufacturing และ Taiyo Yuden ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานใหม่ TDK ซึ่งมีแผนเพิ่มไลน์ผลิต และอื่น ๆ ซึ่งทุกบริษัท ต่างตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตให้ได้เพิ่มขึ้น 10% ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำลังผลิตนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ MLCC ซึ่ง Mr. Shinji Masuyama ผู้บริการอาวุโสบริษัท Taiyo Yuden ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “แนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปหลังปีงบประมาณ 2018”

อีกสิ่งที่จำเป็นในการผลิต MLCC ซึ่งมีขนาดเป็นพิเศษเล็กให้ได้เป็นจำนวนมากก็คือองค์ความรู้ ทำให้แม้ลงทุนเสริมกำลังผลิตแล้ว ก็ไม่อาจเพิ่มกำลังผลิตได้ตามต้องการ ส่งผลให้การพัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตกลายเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่ง Mr. Shoichi Tosaka CEO บริษัท Taiyo Yuden กล่าวแสดงความเห็นว่า “แม้จะสร้างโรงงานใหม่เสร็จ แต่ยังคงมีปัญหาด้านบุคลากรอยู่”

นอกจากนี้ ผู้ผลิตหลายบริษัทยังได้พิจารณาการขึ้นราคา MLCC เอาไว้เป็นทางออกสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมา Murata Manufacturing ได้ซัพพลาย MLCC ให้กับหลายบริษัทในฐานะการสนับสนุนทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการที่มากขึ้นในครั้งนี้เกินกว่าที่ทางบริษัทจะแบกรับได้ ซึ่งผู้อำนวยการ Yoshito Takemura ได้กล่าวแสงความเห็นว่า “ปัจจุบันเรากำลังอยู่ระหว่างการร้องขอขึ้นราคากับคู่ค้าของเรา” ส่วน Taiyo Yuden และ TDK นั้น อยู่ระหว่างพิจารณาการรักษาระดับราคาไว้ไม่ให้ตกลงไปมากกว่านี้เสียก่อน

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า การขึ้นราคา MLCC ในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก MLCC ที่ถูกใช้ในการผลิตสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีขนาดที่เล็กลงมาจนไม่อาจพัฒนาให้เล็กกว่านี้ได้อีกแล้ว ต่างจากอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งลดขนาดลงได้อีก และสามารถติดตั้ง MLCC ขนาดเล็กจำนวนมากแทนได้ ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมหลายรายแสดงความเห็นในทิศทางว่า “ตลาดยานยนต์ดูน่าสนใจกว่า” และ “อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนไม่น่าสนใจแล้ว” ซึ่งเป็นความคิดข้างมากในกลุ่มผู้ผลิต MLCC ในขณะนี้

เมื่อรวมกับการชะลอตัวของยอดขายสมาร์ทโฟนแล้ว ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า “เราอาจต้องยอมทิ้งออเดอร์บ้าง” นอกจากนี้ ยังมีอีกสาเหตุสำคัญคือการแข่งขันด้านราคากับผู้ผลิตจีนซึ่งความสามารถในการผลิตสินค้าคุณภาพปานกลางในราคาต่ำ ส่งผลให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นสามารถกำไรได้น้อยลง

จีนมาแรง สวนญี่ปุ่นที่ยังประสบปัญหา

ในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนสินค้า รัฐบาลจีนก็ผลักดันให้เกิดการผลิต MLCC และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญอื่น ๆ เช่นเซมิคอนดัคเตอร์ในประเทศมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ “Made in China 2025”

ในขณะเดียวกันนี้ ยอดสั่งซื้ออุปกรณ์การผลิต MLCC และอุปกรณ์เกี่ยวข้องจากผู้ผลิตในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่ายอดขายอุปกรณ์การผลิต MLCC ของประเทศญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2019 จะมีมูลค่า 3 - 4 พันล้านเยน ซึ่ง Mr. Katsumi Ogawa CEO บริษัท Yodogawa Hu-Tech ผู้ผลิตอุปกรณ์การผลิตจอ LCD และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนและอยู่ระหว่างการผลิตเต็มอัตรา ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “บริษัทเราผลิตอุปกรณ์การผลิต MLCC มาตั้งแต่ปี 2015 แต่พึ่งมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลังมานี้ ซึ่งเราคาดการณ์ว่า เป็นเพราะทิศทางของตลาดที่ต่างกัน คือจีนมุ่งสมาร์ทโฟน และญี่ปุ่นมุ่งรถยนต์ไฟฟ้า”

ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิต และการลดขนาด MLCC ในจีนและไต้หวันยังไม่เพียงพอต่อการผลิต MLCC ประสิทธิภาพสูง ทำให้ญี่ปุ่นยังนำหน้าจีนอยู่ อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่เพิ่มขึ้น และการผลักดันจากรัฐบาล ทำให้เทคโนโลยีการผลิตของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากประเทศญี่ปุ่นยังประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าเช่นนี้แล้ว ในอนาคตผู้ผลิตยานยนต์อาจหันไปสั่ง MLCC จากจีน ตามรอยผู้ผลิตสมาร์ทโฟนก็เป็นได้