ใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุม “วิศวกรชาย” และ “วิศวกรหญิง” สามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ และมีโอกาสเติบโตในเส้นทางอาชีพได้อย่างเท่าเทียม

ผู้หญิงก็ทำได้! สภาวิศวกร เผย “วิศวกรหญิง 4 เจนเนอเรชั่น” ก้าวข้ามความท้าทาย บนเส้นทางอาชีพวิศวฯ สู่การเป็นมากกว่าวิศวกร

อัปเดตล่าสุด 8 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 4,765 Reads   

ปัจจุบัน “ผู้หญิง” ไม่ถูกตีกรอบ หรือจำกัดรูปแบบการทำงานที่ต้องอยู่ในออฟฟิศ หรือในร่มแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะเห็นว่ามี “ผู้หญิงเก่ง” ในหลากหลายวงการที่ทำงานได้อย่างคล่องแคล่วและเข้มแข็งเทียบเท่า “ผู้ชาย” อย่าง คุณปิ๋ม - สุภาวดี นามชารี สาวไทยผู้มีอาชีพขับรถบรรทุกในสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับ สายอาชีพ “วิศวกร” ที่แต่เดิม หลายคนมักมีภาพจำว่าเป็นสายอาชีพสำหรับ “ผู้ชาย” ด้วยกรอบการทำงานที่ต้องลงพื้นที่ทำงานกลางแจ้ง ต้องคุมโครงการก่อสร้างหามรุ่งหามค่ำ อีกทั้งมีตำแหน่งงานรองรับ และความก้าวหน้าทางอาชีพที่มากกว่า แต่ในปัจจุบัน “วิศวกรชาย” และ “วิศวกรหญิง” สามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตในเส้นทางอาชีพได้อย่างเท่าเทียม

 
“หญิงแกร่งแห่งวงการยานยนต์” ผู้ทำการวิจัยพลังงานทดแทนต่าง ๆ และระบบไอเสียเครื่องยนต์เป็นคนแรก และผู้สร้างแรงบันดาลใจวิศวกรยุคใหม่ ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์
 
รองศาสตราจารย์ พูลพร แสงบางปลา กรรมการจรรยาบรรณ สภาวิศวกร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมวิศวกรยานยนต์ไทย นายกสมาคมวิศวกรหญิงไทยคนแรก ประธานกลุ่มชิ้นส่วนและยานยนต์ ASEAN และหนึ่งในทีมทดลองวิจัยพลังงานทดแทนในเครื่องยนต์ เผยถึงบทบาทการทำงานในฐานะวิศวกรหญิงว่า ไม่มีคำว่ายาก หากนำความรู้ที่ได้ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยตลอด 4 ปี มาประยุกต์ใช้ในโลกของการทำงานได้อย่างเหมาะสม ภายใต้การยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับวิศวกรรุ่นใหม่ จะต้องเรียนรู้รอบด้าน เพื่อก้าวให้ทันกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 ต้องไม่เก่งเฉพาะวิชาที่เรียนมาเท่านั้น ต้องศึกษาศาสตร์วิศวกรรม ทั้งวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ หรือกระทั่งหลักการบริหารงาน การบริหารคน และการบริหารเงิน 
 
“ความท้าทายของผู้หญิงในอาชีพวิศวกร สำหรับตัวเองแล้วเริ่มตั้งแต่การตัดสินใจก้าวเข้าสู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2500 ถือว่าเป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะ ทำให้ต้องมีความมานะ อดทน เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพวิศวกรได้ เมื่อเรียนจบการศึกษาก็ได้ทำอาชีพวิศวกรอย่างเต็มตัว เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น จากนั้นก็ตัดสินใจผันตัวเองสู่การเป็นอาชีพ “เรือจ้าง” โดยเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปลุกปั้นบุคลากรที่มีคุณภาพประดับวงการ”
 
ทั้งนี้ จากการทำงานมาตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมานี้ มีมากมายนับไม่ถ้วน โดยผลงานที่ชื่นชอบและภาคภูมิใจให้กับตนเอง คือ การทดลองวิจัยพลังงานทดแทน จึงเป็นคนไทยคนแรกที่วิจัยพลังงานทดแทน อย่าง แก๊สแอลพีจี (LPG) ซีเอ็นจี (CNG) เอทานอล (Ethanol) และไบโอดีเซล (Biodiesel) และทำให้ทุกวันนี้ประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนต่างๆ ตามงานวิจัยของอาจารย์ รวมทั้งระบบไอเสีย จึงได้รับการขนานนามว่า “หญิงแกร่งแห่งวงการยานยนต์” และยังคงมุ่งมั่นปลุกปั้นบุคลากรวิศวกรไทย เพื่อทำงานช่วยเหลือสังคมและพัฒนาประเทศไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป 
 
 
“วิศวกรหญิง” ผู้ผันตัวเองสู่เส้นทาง “สายการศึกษา” ด้วยเป้าหมายที่ใหญ่ยิ่งอย่าง “การผลิตวิศวกรรุ่นใหม่” เสิร์ฟภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ตลอดจนสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้ ในอนาคต
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภมาศ สุชาตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือ TSE (Thammasat School of Engineering) กล่าวถึงจุดเปลี่ยนของการทำงานในสาย “วิศวกรหญิง” สู่เส้นทางการศึกษาว่า เกิดจากความต้องการในการส่งต่อองค์ความรู้ ด้านวิศวกรรมอุตสาหการ ให้เกิดขึ้นในวงกว้างยิ่งขึ้น ผ่านเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีแพสชั่นในการเป็น “วิศวกร” นอกเหนือจากการเป็นฟันเฟืองหนึ่ง ในการวางแผนการบริหารจัดการ คำนวณต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ การวางผังโรงงาน การควบคุมกระบวนการผลิต และอื่น ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการยกระดับศักยภาพของโรงงานสายการผลิต ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งความรู้ในสาขาดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ในหลากมิติ ควบคู่ไปกับการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และไม่หยุดเรียนรู้เทคโนโลยีหรืออัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ 
 
อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานในอดีต ในฐานะ วิศวกรหญิงประจำโรงงานสายการผลิต จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการทำงานในบางประการ อาทิ การลงพื้นที่ทำงานในต่างจังหวัด การประสานและควบคุมการทำงานของช่างเทคนิคในฝ่ายต่าง ๆ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า “เรื่องเพศ ทั้งเพศหญิง และเพศที่สาม (LGBTQ) มิใช่ข้อจำกัดในการทำงานสายวิศวฯ ในปัจจุบัน เพราะหากคุณสามารถแสดงศักยภาพเป็นที่ประจักษ์ได้ หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี เมื่อนั้นคุณก็จะได้รับการยอมรับอย่างไร้เงื่อนไข” 
 
วิศวกรหญิง ผู้มาพร้อมกับแพสชันด้านวิศวฯ โยธา ตั้งแต่วัยมัธยมฯ มุ่งมั่นใช้ “ใบ ก.ว.” เบิกเส้นทางอาชีพ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อนร่วมงาน วิศวกรชาย
 
นางสาวชลธิชา ปิยะศิริศิลป์ วิศวกรประมาณราคา บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) (Team Group) ศิษย์เก่าจากสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการก้าวสู้เส้นทางอาชีพวิศวกรหญิงว่า ด้วยมองว่าการก่อสร้างเป็นหนึ่งในผลงานที่มีรูปธรรมจับต้องได้ อีกทั้งยังมีความใฝ่ฝันว่า เมื่อมีครอบครัวอยากถ่ายทอดให้ลูกฟังถึงตึกที่แม่สร้างอย่างภาคภูมิใจ เพราะทุกตึกมีโครงสร้างและดีไซน์แตกต่างกัน ดังนั้น ตนในวัยมัธยมฯปลาย จึงวางแผนชีวิตและเลือกศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ในหลักสูตรวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมกับสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือ ใบ ก.ว. กับสภาวิศวกรทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเบิกทางสู่เป้าหมายอาชีพวิศวกรโยธาหญิงเต็มตัว 
 
“แต่ทั้งนี้ กว่าจะก้าวสู่อาชีพวิศวกรโยธาได้สำเร็จนั้น ต้องใช้ความอดทนสูง โดยสมัยเรียนมหาวิทยาลัย จะมีเพื่อนผู้หญิงที่คณะน้อยมาก อีกทั้งเพื่อนหลาย ๆ คน ยังเลือกหันหลังไปในเส้นทางอาชีพอื่นแทน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในรูปแบบการทำงานบางประเภทอย่าง ‘การประมาณการก่อสร้าง และการวางแผน’ นั้น ส่วนตัวมองว่า วิศวกรหญิงสามารถทำได้ดีกว่าผู้ชาย ด้วยความที่ผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนที่มากกว่า โดยทุกวันนี้ ยังรู้สึกสนุกกับการออกดูไซด์งานก่อสร้าง และเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงก็สามารถทำงานวิศวกรโยธาได้ดีไม่ต่างจากผู้ชาย”
 
ทั้งนี้ สำหรับความท้าทายโลกของการทำงานในฐานะ “วิศวกรประมาณราคา” (Estimated Engineer) คือ การให้คำปรึกษากับเจ้าของโครงการและผู้ออกแบบ ที่ต้องมีความแม่นยำ เพราะหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งการก่อสร้างผิดแบบหรือก่อสร้างแล้วไม่ประสบความสำเร็จ และอยากฝากแนวคิดให้กับน้อง ๆ ที่ต้องการเติบโตบนเส้นทางอาชีพวิศวกรว่า ต้องเก็บเกี่ยวความรู้นับตั้งแต่ที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะเมื่อก้าวสู่อาชีพวิศวกรถือว่าอยู่ในระดับหัวหน้างาน ต้องมีภาวะการเป็นผู้นำ ชี้แนะแนวทางการทำงานให้กับโฟร์แมน สำหรับตนเองนั้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นผู้รับเหมาร่วม 5 ปี เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างอย่างแท้จริง   
 
“วิศวกรหญิงรุ่นใหม่” รุดหน้าศึกษาต่อ ป.โท เดินตามฝันกับสายอาชีพ “วิศวกรรมอุตสาหการ” ตั้งเป้าเป็นหนึ่งใน “วิศวกรหญิง” ที่ประสบความสำเร็จในอนาคต
 
นางสาวณัชชา คูณอเนกสิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เล่าว่า จากความสนใจศึกษาต่อด้านวิศวกรรมอุตสาหการ ด้วยมองว่าเป็นหลักสูตรที่มีสาขาน่าเรียนหลายแขนง มีกลุ่มงานรองรับมั่นคงและหลากหลาย ทั้งบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์โลกการทำงานในปัจจุบันและอนาคต ที่มีเรื่องของเทคโนโลยีมาเกี่ยวพัน ซึ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สถาบันที่เข้มแข็งด้านวิศวกรรมศาสตร์ มีกิจกรรมที่กระตุ้นการคิด-วิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเน้นสร้างประสบการณ์จากการลงมือทำ มากกว่าการเลคเชอร์ โดยมีอาจารย์ภาคให้คำปรึกษา จึงทำให้ตนได้สัมผัสและคุ้นเคยกับรูปแบบการทำงานจริง ก่อนเดินทางไปฝึกประสบการณ์ ณ มหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ตนสามารถนำความรู้จาก สจล. ไปปรับใช้ในการฝึกปฏิบัติที่ห้องแลป ประเทศญี่ปุ่น ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ก็ได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน 
 
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนและฝึกงานที่ญี่ปุ่น อีกทั้งพบว่า วิศวกรหญิง มีแนวโน้มการเติบโตและประสบความสำเร็จจำนวนมาก ทั้งในบริษัทเอกชน และโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้ตนมองเห็นเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และตั้งเป้าตามรอยความสำเร็จเพื่อเป็นหนึ่งในวิศวกรหญิงที่ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในอาชีพเช่นกัน โดยล่าสุด เตรียมวางแผนศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เพื่อนำความรู้เชิงลึกที่ได้ เข้าไปเติมเต็มและขับเคลื่อนการทำงานในสายวิศวกรรมอุตสาหการ ตามที่ตั้งใจได้อย่างเต็มศักยภาพ 
 

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของ “สมาชิกวิศวกร” ที่ขึ้นทะเบียนกับ “สภาวิศวกร” (COE) เสาหลักของชาติด้านวิศวกรรม นั้น มีจำนวนกว่า 170,000 ราย และมากกว่า 10% เป็นวิศวกรหญิง ครอบคลุมทั้งสิ้น 7 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี โดยผู้สนใจที่จบการศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ใน 7 สาขาดังกล่าว สามารถสมัครเป็นสมาชิกสภาวิศวกร เพื่อสอบ “ใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุม” หรือ “ใบ ก.ว.” สู่การรับรองมาตรฐานและศักยภาพการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมได้ที่ สภาวิศวกร ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) กรุงเทพฯ