สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อและราคาสินค้าอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2561

อัปเดตล่าสุด 2 ต.ค. 2561
  • Share :
  • 567 Reads   

กระทรวงพาณิชย์ เผย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน 2561 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2560 เพิ่มขึ้นในลักษณะชะลอตัวร้อยละ 1.33 (YoY) เทียบกับร้อยละ 1.62 ในเดือนก่อน และเป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน

การชะลอตัวของเงินเฟ้อดังกล่าว สอดคล้องกับการชะลอตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวในอัตราลดลงที่ร้อยละ 1.3 และ 1.5 ตามลำดับ โดยสาเหตุสำคัญของการชะลอตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตมาจากการลดลงของราคาผลผลิตเกษตรกรรมที่ปรับลดลงร้อยละ -1.2 ในขณะที่การชะลอตัวของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างมาจากราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก  รวมทั้งหมวดซีเมนต์ที่ชะลอจาก   ร้อยละ 9.1 และร้อยละ 2.1 ในเดือนก่อน มาเหลือเพียงร้อยละ 2.7 และ 0.5 ตามลำดับ ในเดือนนี้ อย่างไรก็ตามการลดลงของราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมและการชะลอตัวของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก   เป็นปัจจัยระยะสั้นที่เป็นผลจากด้านอุปทานทั้งในประเทศและโลกเป็นสำคัญ ในขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์โดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ อีกทั้งรายได้เกษตรกรและอัตราค่าจ้างเฉลี่ย  ยังขยายตัวได้ดีในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อโดยรวมในระยะนี้ลดลง และคาดว่าเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีจะยังคงมีลักษณะเช่นนี้และเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกรอบคาดการณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ประมาณการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกันยายน 2561 เท่ากับ 102.57 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ
1. เดือนสิงหาคม 2561 (MoM) สูงขึ้น 0.29
2. เดือนกันยายน 2560 (YoY) สูงขึ้น 1.33

3. เฉลี่ย 9 เดือน 2561 (AoA)

(ม.ค. – ก.ย. 2561)/(ม.ค. – ก.ย. 2560)

สูงขึ้น 1.14

 

สถานการณ์ราคาสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2561

การชะลอตัวของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ร้อยละ 1.2  

  • การลดลงของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ กระดาษ และสิ่งทอ  
  • ผลิตภัณฑ์อาหาร (ข้าวสาร ปลายข้าว รำข้าว เนื้อสุกร ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส) ขยายตัวต่อเนื่อง ตามราคาวัตถุดิบ 
  • กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง จากการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ ขยายตัวต่อเนื่องตามราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง 
  • กลุ่มเครื่องจักร (เครื่องสูบน้ำ คอมเพรสเซอร์   รถไถนา) ขยายตัวต่อเนื่อง ตามต้นทุนการผลิต 

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2560 ชะลอตัวร้อยละ 1.3 (YoY)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2560  ชะลอตัวร้อยละ 1.5 (YoY) แต่ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 

  • หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ชะลอตัวจากร้อยละ 9.1 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ในเดือนนี้ สอดคล้องกับราคาเหล็กในภูมิภาคของเดือนกันยายน
  • หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดคอนกรีต ที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 1.5 และร้อยละ 0.5 สอดคล้องการกับการชะลอตัวของก่อสร้างในช่วงหน้าฝน  

 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ -0.3 (MoM) เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 3.2 (AoA)

 

แนวโน้มเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของทั้งความต้องการและราคาพลังงาน    โดยราคาพลังงานมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ในขณะที่ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศ ซึ่งอาจส่งผลสุทธิต่อดุลการชำระเงิน สำหรับราคาสินค้าเกษตรยังคงลดลง แต่รายได้เกษตรกรและอัตราค่าจ้างเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเริ่มมีสัญญาณการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการในระยะต่อไป ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยน่าจะเคลื่อนไหว ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 0.8–1.6  และอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2.5±1.5 ได้

คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.8 - 1.6 (YoY)
อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.2 - 4.7 (YoY) (สศช.)
ราคาน้ำมันดิบดูไบ ทั้งปี 68 - 73 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
อัตราการแลกเปลี่ยน ทั้งปี 32 - 34 บาท / เหรียญสหรัฐ
ราคาสินค้าเกษตร (-7.5) - (-6.5) %
การบริโภคภาคเอกชน 4.1 % (สศช.)
การส่งออก สูงกว่า 8.0 %

อ่านต่อ 

(สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อและราคาสินค้าอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2561)