หอการค้าไทย เผย การเลือกตั้งหนุนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ก.พ. 62

อัปเดตล่าสุด 13 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 348 Reads   

ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 6 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และบรรยากาศการเลือกตั้งที่มีความคึกคักทั่วประเทศส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มคลี่คลายลง และการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นเป็นปกติ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันกลับฟื้นตัวขึ้น และความเชื่อมั่นต่างๆ ในอนาคตเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 69.0 77.1 และ 99.9 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมกราคม ที่อยู่ในระดับ 67.7 75.8 และ 98.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 80.7 มาอยู่ที่ระดับ 82.0 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเรื่อง Brexit ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงละความผันผวนสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม 

สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 54.5 มาอยู่ที่ระดับ 55.7 แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 92.3 มาอยู่ที่ระดับ 93.6 ซึ่งยังปรับตัวอยู่ใกล้เคียงระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 6 เดือน สืบเนื่องมาจากการกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และบรรยากาศการเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ  ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มคลี่คลายลงและการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นปกติ ส่งผลให้มีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และ Brexit ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้