ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หวัง ครม.ใหม่ เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน

อัปเดตล่าสุด 14 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 371 Reads   

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 1,146 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 29.1,36.0 และ 34.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 35.7, 32.6,16.8,17.2,23.0 และ 10.4 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.7 และ 19.3 ตามลำดับ

โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.0 ในเดือนเมษายน โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในองค์ประกอบยอด คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

จากการสำรวจ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียนในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า การพิมพ์ เยื่อและกระดาษ ขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐยังส่งผลดีต่อสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ขณะที่ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขยายตัวต่อเนื่องจากสภาพอากาศที่ยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่เกิดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 102.9 โดยเพิ่มขึ้นจาก 101.9 ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าและการลงทุนของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 จากการสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

อุตสาหกรรมขนาดย่อม 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 80.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 81.5 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร หัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสมุนไพร เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 94.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.0  ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.0 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 109.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 108.3 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.6 ปรับตัวลดลง จากระดับ 109.2 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน โดยมีรายละเอียด มีดังนี้

ภาคกลาง 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 99.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมพลาสติก (สินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเครื่องใช้ในครัวเรือน ถุงพลาสติก ฟิล์มพลาสติก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ)
  • อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาด CLMV และสหรัฐฯ เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพและเป็นที่นิยม)
  • อุตสาหกรรมรองเท้า (รองเท้านักเรียน รองเท้าผ้าใบ มียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน)

อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศลดลง และส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อและผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ)

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.9 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคเหนือ 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 81.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 80.9 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาด CLMV จากความต้องการใช้ในภาคก่อสร้าง)
  • อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ในสำนักงาน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในสำนักงาน หนังสือแบบเรียน มียอดผลิตและยอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเยื่อและกระดาษเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและอาเซียน)
  • อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปไม้และเหล็ก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาดในประเทศ และโครงการอสังหาริมทรัพย์ การส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ และอาเซียน)

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าวัตถุดิบที่นำไปผลิตเครื่องนุ่งห่ม มีคำสั่งซื้อลดลง อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน และเส้นใยสิ่งทอ มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีนและเวียดนาม ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย คำสั่งซื้อลดลงจากตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 94.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดนักเรียน นักศึกษา มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ขณะที่การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ)
  • อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์หินอ่อน หินประดับ อิฐมวลเบา อิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในภาคก่อสร้าง)
  • อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ มียอดขายในประเทศ ตามความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ขณะที่ปูนซีเมนต์ผงและปูนเม็ด มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์)

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทแผงวงจรไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดจีน เนื่องจากเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน สินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดสหรัฐฯ)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวเพิ่มขี้นจากระดับ 97.7 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 111.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.2 ในเดือนเมษายน 2562   องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดภายในประเทศ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อนทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น และส่งออกไปยังตลาด เวียดนาม สหรัฐฯ ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น สินค้าประเภทตู้เย็นและตู้แช่แข็ง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดภายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น)
  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐฯ)
  • อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์ เหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ)

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (สินค้าประเภทอัญมณี มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ สิงคโปร์และฮ่องกง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทองมียอดการส่งออกไปเยอรมนีและสหรัฐฯ ลดลง)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 110.4 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคใต้  

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 78.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยางและถุงมือตรวจโรค ยางรัดของ มีคำสั่งซื้อภายในประเทศลดลง การส่งออกยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศมาเลเซีย ผลิตภัณฑ์ยางส่งออกไปประเทศจีนลดลง)
  • อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูป มีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนลดลง เนื่องจากเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน)
  • อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบมีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา การส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดมาเลเซียและอินเดีย)

อุตสาหกรรมในภาคใต้ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ปลาทูน่ากระป๋อง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 98.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนพฤษภาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีฯ  กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมรองเท้า เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 103.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.0 ในเดือนเมษายน 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 103.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

  • ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะมาตรการทางด้านภาษี เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ 
  • เร่งการเจรจาข้อตกลงทางการค้า FTA ระหว่าง Thai - EU เพื่อขยายตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

อ่านต่อ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เมษายน 2562