ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม กันยายน 2562

อัปเดตล่าสุด 31 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 555 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.73 โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.15 หลายอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัวจากการขยายตลาดต่างประเทศ สำหรับตลาดในประเทศคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยกระตุ้นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนหน้า

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.73 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนกันยายน 2562 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ รถยนต์และเครื่องยนต์ เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.60 โดยสินค้าที่ขยายตลาดต่างประเทศที่ขยายตัว ได้แก่ เบียร์ สุรา เครื่องปรับอากาศ

นายทองชัย กล่าวต่อว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ระดับ 97.50 หดตัวลงร้อยละ 4.73 ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 63.87 เนื่องจากอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันบางรายหยุดซ่อมบำรุงตามรอบปี ทำให้อัตรการใช้กำลังการผลิตรวมลดลง ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ระดับ 99.35 หดตัวลงร้อยละ 4.15 ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 64.98 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกันยายน ได้แก่

เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin และ Propylene เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตบางรายมีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักร ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.79

เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยโลหะและเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ที่ผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.36 โดยผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงได้เร่งการผลิตเพื่อให้ทันการส่งมอบ
 
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ผลิตได้ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม รวมทั้งได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.15 ตามการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม พม่า เป็นต้น
 
สุรา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์สุราขาวและสุราผสม เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำการตลาดโดยได้ปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีการตอบรับที่ดีทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงการวางแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ เช่น ประเทศพม่า ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อุตสาหกรรมสุราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36.14
 
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด และยาครีม โดยส่วนใหญ่เป็นยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบ ยาแก้แพ้ ที่ผู้ผลิตได้ขยายตลาดใหม่หลังจากการขยายกำลังการผลิต และได้เตรียมความพร้อมให้สถานที่เก็บรักษายาที่สามารถรองรับการผลิตยาได้มากขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.05

“มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกเกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ อาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ ชิมช้อปใช้เฟส 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการซื้อจากทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออกภาคบริการ (นักท่องเที่ยวต่างประเทศ) โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น” นายทองชัย กล่าวปิดท้าย

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)

Index 2561 2562
ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 102.34 104.54 105.49 103.52 108.40 105.56 115.55 95.44 104.30 100.78 99.98 100.57 97.50
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % -2.73 2.15 0.91 -1.86 4.71 -2.62 9.46 -17.40 9.28 -3.38 -0.79 0.59 -3.06
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) % -0.08 5.75 0.85 1.19 0.56 -1.26 -2.66 1.54 -3.41 -5.27 -3.32 -4.41 -4.73
อัตราการใช้กำลังการผลิต 68.18 69.99 70.30 67.56 70.46 69.07 74.25 63.62 67.83 65.26 65.26 65.81 63.87

 

ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2562

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต (รายไตรมาส)

Index 2561 2562
Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 Q2 Q3*
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 111.13 102.79 103.66 104.52 109.83 100.17 99.35
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  % 9.04 -7.51 0.85 0.83 5.09 -8.80 -0.82
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  % 5.18 4.49 2.32 2.55 -1.17 -2.54 -4.15
อัตราการใช้กำลังการผลิต 72.92 68.16 68.66 69.28 71.26 65.57 64.98

 

ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2562

อ่านต่อ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม สิงหาคม 2562