ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม พฤษภาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 19 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 322 Reads   

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนพฤษภาคม 2561 จำนวน 1,015 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ระดับ  90.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.1 ในเดือนเมษายน 

ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

จากการสำรวจ พบว่า ในเดือนพฤษภาคม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังขยายตัวต่อเนื่อง และส่งผลดีต่อภาคการผลิต รวมทั้งการส่งออกได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สะท้อนจากคำสั่งซื้อโดยรวมและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ มีแผนการขยายการลงทุนเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามจากการที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท ทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับ 101.6 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 102.2 ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อโดยเฉพาะในระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังมีค่าเกิน 100 สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดี
 
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน  ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน โดยมีรายละเอียด มีดังนี้ 
 
 อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่งรถกระบะ รถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง)
  2. อุตสาหกรรมพลาสติก (บรรจุภัณฑ์พลาสติก ฟิล์มพลาสติก และขวดพลาสติก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐฯ)
  3. อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสปา มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและตลาด CLMV เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ต้องการ)

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ105.4 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (หลังคาเมทัลชีทและกระเบื้องลอนคู่ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นตามความต้องการในการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน และการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์)

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 89.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่  

  1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ จีน และ CLMV อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ Hard Disk Drive มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและฮ่องกง)
  2. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดนักเรียน มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในช่วงเปิดภาคเรียน ด้านการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้ากีฬาและชุดชั้นในมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ อาเซียน และยุโรป)
  3. อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในธุรกิจก่อสร้าง ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากจีน และตลาด CLMV)

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 99.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
 อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทอะไหล่และล้อยาง อุปกรณ์เสริม มีคำสั่งซื้อจากตลาดเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น)
  2. อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (แผงโซลาร์เซลล์มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น  เนื่องจากลูกค้าในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น)
  3. อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น คอมเพรสเซอร์มีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และจีน)

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.4  เพิ่มขึ้นจากระดับ 107.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย)
  2. ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางและยางแผ่นรมควัน ส่งออกไปยังประเทศจีนและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ)
  3. อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มขวดมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ปาล์มดิบมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทน)

 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.0 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมัน ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
 
                  
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
 
ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สามารถนำเสนอแผนการลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและการพัฒนานวัตกรรมการผลิต ต่อสถาบันการเงิน โดยจัดทำเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงิน