Robots impact on employment โรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ ได้เปรียบเหนือคู่แข่ง จ่ายค่าแรงดีกว่า

งานวิจัย เผย โรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ ได้เปรียบเหนือคู่แข่ง จ่ายค่าแรงดีกว่า

อัปเดตล่าสุด 17 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 894 Reads   

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้โรบอทในโรงงานส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน แม้จะเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงักทั่วโลก แต่มิอาจทำให้แนวโน้มการติดตั้งโรบอท หรือหุ่นยนต์โรงงานลดลง มีข้อมูลจากหลายแหล่งระบุถึงความสัมพันธ์ของจำนวนหุ่นยนต์ ส่งผลต่ออัตราการจ้างงานและค่าแรงงาน รวมถึงการส่งผลต่อความได้เปรียบเชิงธุรกิจอีกด้วย

งานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2020 รายงานผลการเก็บข้อมูลในช่วงปี 1990 - 2007 พบว่า การติดตั้งหุ่นยนต์ 1,000 ตัว จะทำให้อัตราการจ้างงานลดลง 0.2% หรือ เท่ากับหุ่นยนต์ 1 ตัวจะแทนที่คนงานได้ถึง 3.3 คน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมใด อีกทั้งการติดตั้งหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น ยังทำให้ค่าแรงเฉลี่ยลดลง 0.4% 

จากศึกษาเพิ่มเติม MIT พบว่า ในเมืองดีทรอยต์ซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับ 1 ของโลก หุ่นยนต์ 1 ตัวเข้ามาแทนที่คนงานได้ถึง 6.6 ตำแหน่ง ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนงานทักษะต่ำ และคนงานทักษะปานกลาง

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าธุรกิจที่มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ มักมีค่าตอบแทนให้พนักงานสูงกว่าธุรกิจที่ไม่ติดตั้งหุ่นยนต์ สืบเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เริ่มใช้หุ่นยนต์ก่อน ทำให้สามารถขายสินค้าในราคาถูกกว่า และสร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่งในตลาดได้ โดยมีตัวอย่างเป็นอุตสาหกรรมการผลิตของฝรั่งเศสในปี 2010 - 2015 มีเพียง 598 จาก 55,390 บริษัท หรือประมาณ 1% เท่านั้นที่ติดตั้งหุ่นยนต์ แต่ผลผลิตจากบริษัทเหล่านี้รวมกันแล้วมีสัดส่วนมากถึง 20% จากทั้งประเทศ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ การติดตั้งหุ่นยนต์ในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นถึง 20% และการจ้างงานลดลง 3.2% แต่ในบริษัทที่ใช้หุ่นยนต์กลับมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากการต่อเติมโรงงาน หรือการขยับขยายสาขาทั้งใน และนอกประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ ที่รายงานการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ หนึ่งในผู้ใช้หุ่นยนต์โรงงานรายใหญ่ที่สุดของโลก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 180,600 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 22% ในช่วงปี 2013-2018 

ทุก 10% ของหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้น อัตราการจ้างงานของธุรกิจที่ไม่ใช้หุ่นยนต์จะลงลง 2.5% 
ในขณะที่แรงงานในธุรกิจที่ใช้หุ่นยนต์ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น 4 - 6%

ในขณะเดียวกัน องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) พบว่า ธุรกิจที่ติดตั้งหุ่นยนต์ มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงกว่าธุรกิจที่ไม่ใช้หุ่นยนต์ถึง 10 เท่า และคาดการณ์ว่าในหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งเอกชนและรัฐบาล มีแนวโน้มสูงที่จะติดตั้งหุ่นยนต์ และพัฒนาทักษะแรงงานเพิ่ม เพื่อตอบสนองต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมความมั่นคงของซัพพลายเชน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่เห็นผลชัดเจนที่สุดจากการระบาดในครั้งนี้ ซึ่ง International Data Corporation (IDC) คาดการณ์ว่า ยอดขายหุ่นยนต์ในปี 2023 จะปิดที่มูลค่าสูงถึง 241,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 19.8%

แม้จะยังไม่มีตัวเลขคาดการณ์โดยละเอียด แต่จนถึงปัจจุบันก็เริ่มมีแนวโน้มที่เด่นชัดปรากฏให้เห็นในภาคอุตสาหากรรมแล้ว เช่น Mobile Industrial Robots A/S ผู้ผลิตหุ่นยนต์สำหรับคลังสินค้าให้กับ Ford, Airbus, Flex, Honeywell และ DHL ได้รายงานถึงยอดสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก, BMW Group ประกาศซื้อหุ่นยนต์โรงงานเพิ่มอีก 5,000 ตัว

International Federation of Robotics (IFR) เปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมาว่า ตลอดช่วงปี 2013 - 2018 ปริมาณการติดตั้งหุ่นยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ 2.4 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นถึง 65% ในช่วงเวลา 5 ปี ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐอเมริกา (U.S. Bureau of Labor Statistics) รายงานว่า อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐ หนึ่งในผู้ใช้หุ่นยนต์โรงงานรายใหญ่ที่สุดของโลก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 180,600 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 22% ในระยะเวลาเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้เอง IFR จึงคาดการณ์ว่า ความพยายามเสริมศักยภาพซัพพลายเชนนี้เอง ที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น แม้ว่าอาจต้องอาศัยเวลาจึงจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตได้ แต่ในท้ายสุด ก็จะนำมาซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต และส่งเสริมตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อไป

 

อ่านต่อ