สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาสที่ 1/2563

อัปเดตล่าสุด 11 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 2,043 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานสถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีมูลค่าทั้งสิ้น 121,410.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออก 62,672.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 58,738.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 1.1 และมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในขณะที่ดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เกินดุล 3,933.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

“มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกกลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าที่เริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดลง ภายหลัง สหรัฐฯ และจีนลงนามจัดทำข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ส่งผลให้ในภาพรวมสินค้าอุตสาหกรรมไทยยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้”

โครงสร้างการส่งออก 

การส่งออก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 62,672.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้าพบว่า สินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออก 5,085.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.7 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 4,534.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 4.3 

สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 50,832.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.1 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 2,218.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.6 สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 4,615.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.8) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าส่งออก 2,967.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.6) เครื่องปรับอากาศและ ส่วนประกอบ (มูลค่าส่งออก 1,743.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13.8) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (มูลค่าส่งออก 1,540.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.0) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (มูลค่าส่งออก 1,066.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.2)

ตลาดส่งออก การส่งออกไปยังตลาดหลักในไตรมาสที่ 1 ปี 2563  ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพ ยุโรป (27 ประเทศ) มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 26.0, 13.6, 10.6, 9.7, และ 9.5 ตามลำดับ เมื่อรวมสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลัก คิดเป็นร้อยละ 69.3 และการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 30.7 ของการส่งออกทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า การส่งออกไปยังอาเซียน (9) มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 4.5 ในขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (27) สหรัฐอเมริกา และจีน หดตัวร้อยละ 5.2, 4.1, 2.8, และ 0.7 ตามลำดับ

โครงสร้างการนำเข้า การนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 58,738.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า สินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้า 9,993.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.7 สินค้าทุนมีมูลค่า การนำเข้า 14,449.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.6 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้า 22,367.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.2 สินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่าการนำเข้า 6,927.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.2 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีมูลค่าการ นำเข้า 3,452.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.2 และสินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 1,549.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 29.5

แหล่งนำเข้า สัดส่วนการนำเข้าแยกตามตลาดนำเข้าสำคัญ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) มีสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 19.8, 19.8, 13.5, 10.1, และ 8.4 ตามลำดับ เมื่อรวมสัดส่วนการนำเข้าไปยังตลาดสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 71.6 และการนำเข้าจากตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของการนำเข้าทั้งหมดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพบว่าการนำเข้าอาเซียน (9 ประเทศ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 4.6 รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ขณะที่การนำเข้าจากตลาด ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) หดตัวลงร้อยละ 7.5 1.2 และ 0.4 ตามลำดับ

 

อ่านเพิ่มเติม: