GDP ปี 2563 หดตัว 6.1% สภาพัฒน์คาดปีนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวก

GDP ปี 2563 หดตัว 6.1% สภาพัฒน์คาดปีนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวก

อัปเดตล่าสุด 15 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 8,693 Reads   

สภาพัฒน์เผย GDP ปี 2563 หดตัว 6.1% GDP Q4 ปรับดีขึ้นจาก Q3 แต่ยังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมทั้งปีลดลง 5.7% คาดปี 2564 เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัว 2.5 - 3.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการลงทุนโครงการใหญ่ภาครัฐ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ในไตรมาสที่ 4 /2563 และภาพรวม GDP ปี 2563 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ลดลงร้อยละ 4.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่ 3 ด้านการใช้จ่ายการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าลดลงในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัว และการส่งออกบริการลดลงต่อเนื่อง ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัว การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ ลดลงในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่สาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ ลดลงต่อเนื่อง เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ร้อยละ 1.3 (QoQ_SA) รวมทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยลดลงร้อยละ 6.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2562 โดยตัวเลขของ GDP ด้านต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้

1) การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.7 และร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวร้อยละ 7.5 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นในกลุ่มบริการสุขภาพ และกลุ่มบริการด้านการศึกษา ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มการเช่าที่อยู่อาศัย กลุ่มการใช้น้ำประปา ไฟฟ้าและพลังงานขยายตัวร้อยละ 1.5 ส่วนการใช้จ่ายกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารลดลงต่อเนื่องร้อยละ 58.7 และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 1.1 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.8 ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 9.2 น้อยกว่าการลดลงร้อยละ 19.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการซื้อยานพาหนะลดลงร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 17.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงต่อเนื่องร้อยละ 12.4 การปรับตัวดีขึ้นของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.3 เทียบกับ 43.0 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการ และค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.4 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 28.6 (สูงกว่าร้อยละ 22.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อน) รวมทั้งปี 2563 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.0 และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 0.8

2) การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่ 3 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 10.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 3.2 และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.8 ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 17.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 20.0 ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 21.8 อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 11.2 เทียบกับร้อยละ 4.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนรวมทั้งปี 2563 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 4.8 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 8.4 ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 5.7

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 58,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 8.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.6 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพาราขยายตัวร้อยละ 25.4 มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 30.2 ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวร้อยละ 29.8 คอมพิวเตอร์ขยายตัวร้อยละ 2.6 เครื่องปรับอากาศขยายตัวร้อยละ 11.2 รถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 0.5 ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 6.1 และปิโตรเคมีขยายตัวร้อยละ 0.5 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง
ได้แก่ น้ำตาลลดลงร้อยละ 67.4 ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ลดลงร้อยละ 11.4 รถกระบะและรถบรรทุกลดลงร้อยละ 10.9 และเคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ 0.6 การส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีน อาเซียน (9) สหภาพยุโรป (27) ไม่รวมสหราชอาณาจักร และตะวันออกกลาง (15) ลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 0.9 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 0.4 รวมทั้งปี 2563 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 226,716 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.6 โดยปริมาณและราคาส่งออกลดลงร้อยละ 5.9 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 7,091 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.9 จากปี 2562 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563

4) สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ได้แก่ ข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ไก่เนื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ไข่ไก่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เป็นต้น ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น กลุ่มไม้ผลลดลงร้อยละ 22.0 อ้อยลดลงร้อยละ 10.8 ยางพาราลดลงร้อยละ 0.8 และปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 2.7 เป็นต้น และหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 12 ร้อยละ 4.5 ในขณะที่หมวดประมงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 5.6 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน โดยเฉพาะราคายางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.2 ราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.4 ราคาสุกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 และราคากลุ่มไม้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง ได้แก่ ราคาข้าวเปลือกลดลงร้อยละ 10.8 และราคาไก่เนื้อลดลงร้อยละ 9.4 เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของทั้งดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 12.1 รวมทั้งปี 2563 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงลดลงร้อยละ 3.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.6 ในปี 2562 ส าหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 4.4 ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3

5) สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.7 น้อยกว่าการลดลงร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 3.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 0.5 น้อยกว่าการลดลงร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 –60 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลดลงร้อยละ 23.3 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.22 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.63 ในไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.33 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตน้ำตาล ลดลงร้อยละ 43.9 การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ลดลงร้อยละ 17.2 และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 7.7 เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตยานยนต์ ร้อยละ 3.7 การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 6.8 และการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ร้อยละ 32.5 เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 5.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.7 ในปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 8.8 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.15

6) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ปรับตัวลดลงร้อยละ 35.2 ตามการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 39.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.159 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 45.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 57.1 ในไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA : STV) ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส จำนวน 10,822 คน (รวมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Thailand Privilege Card) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 32.49 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.69 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลงจากร้อยละ 70.71 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งปี 2563 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 36.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี 2562 โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 6.70 ล้านคน ลดลงร้อยละ 83.2 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 0.441 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 76.2 (เป็นข้อมูลจากบัญชีดุลการชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.482 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 55.4 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 29.51

7) สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ลดลงร้อยละ 21.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 22.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งทางอากาศลดลงร้อยละ 68.1 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 71.0 ในไตรมาสก่อนหน้า บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลงร้อยละ 12.7 น้อยกว่าการลดลงร้อยละ 17.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 4.3 ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 22.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 22.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการไปรษณีย์ขยายตัวร้อยละ 27.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 12.8 ไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งปี 2563การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลดลงร้อยละ 21.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2562 โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลงร้อยละ 19.1 บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 1.1 และบริการขนส่งทางอากาศลดลงร้อยละ 59.4 ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 18.2 ขณะที่บริการไปรษณีย์ขยายตัวร้อยละ 20.4

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.5 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย (1) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ (3) การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ และ (4) การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.0 และร้อยละ 5.7 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.3 ของ GDP

 

อ่านต่อ: