แบตเตอรี่ใส อนาคตใหม่ของ IoT

อัปเดตล่าสุด 28 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 496 Reads   

ในวันที่ 29 และ 30 พฤศจิกายน Nippon Telegraph and Telephone (NTT) ได้จัดงาน “R&D Forum” ขึ้นที่ NTT Musashino R&D Center เพื่อจัดแสดงเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificail Intelligence: AI), IoT, และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวโน้มในการนำมาใช้งานจริงได้ในอนาคตอันใกล้ รวมแล้วกว่า 120 รายการ เทคโนโลยีบางส่วนนั้นจะถูกนำไปใช้งานจริงแล้วในงานโอลิมปิกฤดูร้อน 2020

สำหรับเทคโนโลยีที่น่าจับตามองจากงานนี้ คือ “แบตเตอรี่ใส” แบตเตอรี่สำรองแบบใสซึ่งมีคุณสมบัติในการดัดให้โค้งงอ และพับได้ สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานให้หลอด LED ได้ 5 นาทีด้วยแบตเตอรี่ใส ขนาด 9 x 5 ซม. ซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยการใช้วัสดุใสเป็นขั้วไฟฟ้า และก่อโครงสร้างบนแผ่นฟิล์มบาง โดยต้นแบบของแบตเตอรี่ชนิดนี้ หากผลิตออกมาในขนาดราว 1.5 เท่าของหน้าต่างบ้านแล้ว จะมีสมรรถนะเทียบเท่ากับแบตเตอรี่ “CR1025”

แม้ว่าจะยังต้องพัฒนาอีกมาก จึงจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะออกสู่ตลาด แต่ Ms. Youko Ono หัวหน้าศูนย์วิจัยของ NTT กล่าวแสดงความเห็นว่า “หากแบตเตอรี่โปร่งใสเช่นนี้แล้ว เราจะมีแนวทางการนำแบตเตอรี่ไปใช้พัฒนาอะไรอีกมาก ติดที่ไหนก็ได้ และสร้างอิสระในการนำไปใช้กับ IoT ให้สูงยิ่งขึ้น” โดยปัจจุบัน ทีมวิจัยตั้งเป้าพัฒนาแบตเตอรี่ใสนี้ เพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์มือถือ โซล่าเซลล์ กระจกที่มีฟังก์ชันชาร์จไฟบ้าน และ Wearble Device หลังจากปี 2025 เป็นต้นไป

อีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจภายในงาน คือ “ระบบกู้ภัยฉุกเฉิน” ซึ่ง NTT ได้พัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยอัคคีภัยแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำการรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศ ประวัติการเกิดเหตุ และประชากรภายในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบว่า พื้นที่ใดมีความเสี่ยงสูงมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงข้อมูลของสถานพยาบาลในขณะนั้น เพื่อให้หากเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ว สามารถดำเนินการส่งตัวผู้ประสบภัยไปยังสถานพยาบาลที่พร้อมต่อการรักษาที่สุด ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ด้วยเส้นทางที่ใกล้ที่สุด

โดยสาเหตุที่ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้น จากระยะเวลาที่จำเป็นในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน โดยในช่วงปี 1996 รถพยาบาลจะเข้ารับตัวผู้ประสบภัย หรือผู้ป่วยได้ภายในเวลาเฉลี่ยที่ 24 นาที กลายเป็น 39 นาทีในปี 2016 

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่น่าสนใจภายในงานอีก เช่น “Kirari!” เทคโนโลยีถ่ายทอดสดคุณภาพสูงคุณภาพ 4K ด้วยการใช้กระจกเข้าช่วยเพิ่มมิติให้กับภาพ ซึ่งคาดว่าจะได้แสดงศักยภาพให้เห็นภายในงานโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่จะมาถึงนี้