เฟืองเล็กที่สุดในโลก และ Titanium Aluminum Alloy ราคาถูก 2 เทคโนโลยีใหม่จาก SMEs

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 917 Reads   

เฟือง 44 ฟัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 มม.

IRISO SEIMITSU ประสบความสำเร็จในการผลิตเฟืองทองเหลือง 44 ฟัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 มม. ด้วยการกัด ผ่านการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่พัฒนาขึ้นเองเข้ากับเครื่อง Machining Center ทั่วไป ซึ่งเทคโนโลยีที่บริษัทคิดค้นขึ้นนี้ ถูกคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อผู้ผลิตในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การแพทย์ และ Precision Machine รวมถึงการลดต้นทุนในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง


โดยอุปกรณ์ที่ IRISO SEIMITSU จะทำหน้าที่ในการจับยึด และขยับชิ้นงานในเครื่อง MC โดยใช้แกนหลัก 2 แกน ในการ Process ชิ้นงานจาก 6 ด้าน ใช้เวลาประมาณ 50 นาทีต่อเฟือง 1 ชิ้น และคาดว่าจะสามารถลดให้ต่ำกว่า 40 นาทีได้ในอนาคต ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.002 มม. และประสบความสำเร็จในการผลิตเฟืองเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8 มม. ไปแล้วอีกด้วย นอกจากนี้ ทางบริษัทยังอยู่ระหว่างการทดลองผลิตเฟือง 22 ฟัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.3 มม. อยู่ในขณะนี้

Mr. Kiyokazu Saito ประธานบริษัท IRISO SEIMITSU ชี้แจงว่า “โดยทั่วไปแล้ว ชิ้นส่วนที่มีความละเอียดเช่นนี้ จำเป็นต้องผลิตด้วยการฉีดขึ้นรูปเท่านั้น อีกทั้งหากจะใช้แม่พิมพ์ ก็จะประสบปัญหาในการแก้แบบชิ้นงาน อย่างไรก็ตาม หากสามารถผลิตด้วยการกัดเท่านั้นได้เช่นครั้งนี้ ก็จะสามารถแก้ไขชิ้นงานได้โดยง่าย” และกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางบริษัท อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับศูนย์วิจัย และผู้ผลิต Machine Tools เพื่อทดลองนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องในขณะนี้

ชิ้นส่วนอากาศยานจาก Metal Injection Molding


SME อีกราย ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่คือ Osaka Yakin Kogyo ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาคือการใช้กระบวนการ Metal Injection Molding (MIM) ในการผลิตชิ้นส่วนจากวัสดุ Titanium Aluminum Alloy ซึ่งเป็นวัสดุที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมอากาศยาน และเครื่องมือแพทย์เป็นอย่างมาก และการผลิตวัสดุนี้ด้วย MIM จะสามารถลดต้นทุนลงจากเดิมได้เป็นอย่างยิ่ง รวมถึงเพิ่มแนวทางการนำไปใช้ให้หลากหลายยิ่งกว่าเดิมด้วย ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทดลองนำไปผลิตใบพัดเครื่องยนต์ และมีกำหนดทดสอบการนำไปใช้ในปี 2022

การพัฒนาเทคโนโลยีของ Osaka Yakin Kogyo ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Strategic Innovation Promotion Program (SIP) ของรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือจาก MHI Aero Engine, Kobe Steel, Tokyo Institute of Technology, และ Osaka University 

Titanium Aluminum Alloy มีจุดเด่นคือน้ำหนักเบา และมีความทนทานสูง และถูกคาดหวังว่าจะเป็นวัสดุที่จะนำมาใช้ในการผลิตเครื่องยนต์อากาศยานเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ยังคงประสบปัญหาด้านการะบวนการผลิต ที่สามารถทำได้ยาก และมีต้นทุนสูงในปัจจุบัน ซึ่งการผลิตด้วย MIM มีราคาถูกกว่าวิธีการเดิมเป็นอย่างมาก

โดย Osaka Yakin Kogyo ได้ตีพิมพ์เอกสารวิชาการเกี่ยวกับการผลิต Titanium Aluminum Alloy ด้วย MIM นี้ตั้งแต่เมื่อปี 2000 รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ MIM, ผงโลหะ, และ Gas Atomization ส่งผลให้กลายเป็นอีกบริษัทที่ถูกจับตามอง ในฐานะบริษัทที่มีเทคโนโลยีตั้งแต่ด้านวัสดุ ไปจนถึงการผลิตชิ้นงาน