สัมมนา “การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย" ชูเทคโนโลยี CASE - CAV ต้องตามให้ทัน

สัมมนา “การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย" ชูเทคโนโลยี CASE - CAV ต้องตามให้ทัน

อัปเดตล่าสุด 9 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 12,436 Reads   

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 สถาบันยานยนต์ร่วมหน่วยงานพันธมิตรจัดงานสัมมนา “การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย" ภายใต้โครงการ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคม รวมทั้งรูปแบบการเดินทางในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องมีความอัจฉริยะ มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดเป็นยานยนต์สมัยใหม่ที่ประกอบด้วยยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ (Connected) ยานยนต์มีความสามารถขับขี่อัตโนมัติ (Automated) การใช้งานยานยนต์ร่วมกัน (Shared) และการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrified) หรือเรียกโดยรวมว่า C-A-S-E Technology

จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์ดังกล่าวส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในด้านโอกาสและความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติจะมาควบคู่กับเทคโนโลยียานยนต์เชื่อมต่อ ที่เรียกรวมกันว่า ยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle: CAV) ซึ่งเทคโนโลยี CAV จะส่งผลต่อการใช้งานยานยนต์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ลดความสูญเสียจากการชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ช่วยลดความคับคั่งจากการจราจร ลดการปล่อยมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้ง ทำให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเดินทางได้สะดวก ช่วยทำให้การใช้พื้นที่เมืองมีประสิทธิภาพ ทำให้เมืองน่าอยู่ และเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว 

การใช้งาน CAV ไม่เพียงแต่ต้องเตรียมความพร้อมด้านยานยนต์ แต่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ถนนและสัญญาณจราจรต่าง ๆ สัญญาณสื่อสาร 5G กฎหมายขนส่ง และความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้น การจัดทำแผนยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากประเทศไทยปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีใหม่นี้ ในเวลาไม่เกิน 10 ปี จะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของภูมิภาค และการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการสื่อสาร และอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สถาบันยานยนต์ดำเนินโครงการ “การจัดทำแนวการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ” โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งดำเนินกิจกรรมสร้าง “ภาคีเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Alliance)” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการต่อยอดไปสู่การผลิตยานยนต์ต้นแบบไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์


การจัดงานสัมมนาเปิดโครงการ ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย" มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติให้แก่ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งนักวิชาการและนักวิจัย ภายในงานสัมมนาประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่จากผู้เชี่ยวชาญมากมาย อาทิ การบรรยายเรื่อง “จับตาการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอนาคตของเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่” จาก รศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วยการเสวนา เรื่อง “อุตสาหกรรมไทยกับการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV) ภายใต้ภาคีเครือข่ายธุรกิจ (Business Alliance)" โดย คุณฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ดร.ปาษาณ กุลวานิช ผู้ชำนาญการด้านการพัฒนารถไร้คนขับและระบบหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องไปสู่การผลิต CAV คือ การรวมกลุ่มเป็นภาคีเครือข่ายธุรกิจ (Business Alliance) ที่จะร่วมมือกันตั้งแต่การทำวิจัยพัฒนายานยนต์ต้นแบบไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งความร่วมมือนี้ไม่ใช่เพียงกิจกรรมที่พิสูจน์ความมุ่งมั่นของสมาชิกในเครือข่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นงานที่ต้องได้รับความร่วมมือและความเชื่อมั่นกันของสมาชิกที่จะมาจากหลากหลายธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น อีกทั้งต้องประสานความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศด้วย 

ปิดท้ายด้วยการบรรยาย เรื่อง เทคโนโลยีและชิ้นส่วนยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV)” จาก ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ และ ดร.จาตุวัฒน์ ราชเรืองระบิน หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งการนำเสนอครั้งนี้มุ่งเน้นแสดงให้เห็นตัวอย่างการสร้างเทคโนโลยียานยนต์ CAV ผ่านการวิจัยและพัฒนาที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการพัฒนางานทางด้านการขนส่งสมัยใหม่ พร้อมกับร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา Ecosystem ในเชิงอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ รวมทั้งการเปรียบเทียบเทคโนโลยีและชิ้นส่วนสำคัญที่มีการประยุกต์ใช้ในยานยนต์ CAV ซึ่งเริ่มมีการนำมาใช้งานในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนายังมีการสาธิตการใช้งานรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติต้นแบบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมทั้งชมเทคโนโลยีเชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติจากผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด