ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รุกตลาด “โซล่าเซลล์ในครัวเรือน”

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 609 Reads   

ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคคันไซ ประเทศญี่ปุ่น วางแผนรุกตลาดโซล่าเซลล์ในครัวเรือนด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใน (Feed-in Tariff, FiT) ที่มีบทบาทในการผลักดันตลาดโซลล่าเซลล์ อย่างไรก็ตามด้วยราคาการรับซื้อที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และกำหนดการสิ้นสุดการรับซื้อในช่วงสิ้นปี 2019 ส่งผลให้แรงจูงใจในการขายพลังงานหมุนเวียนลดลง กระตุ้นให้ความต้องการโซลล่าเซลล์สำหรับใช้งานในครัวเรือนสูงขึ้น

การนำแบตเตอรี่สำรองสำหรับกักเก็บพลังงานส่วนเกินเอาไว้มาติดตั้งร่วมกับโซลล่าเซลล์ในครัวเรือนนั้นส่งผลดีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การนำแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเข้าไปติดตั้งเพิ่มในระบบที่ใช้ Power Conditioner ในการแปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยน Power Conditioner ที่ติดตั้งไว้แต่เดิมทั้งหมด ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ติดตั้งได้ยาก และไม่เหมาะแก่การนำมาใช้กับโซลล่าเซลล์ในครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องหาทางแก้ไขให้ได้ก่อนโซล่าเซลล์ในครัวเรือนจึงจะเข้าสู่ก้าวถัดไปได้

ด้วยเหตุนี้เอง Panasonic จึงประกาศวางจำหน่าย PV Power Measuring Unit R Type ซึ่งออกแบบให้มีการติดตั้ง Charge/Discharge converter เพิ่มลงไปในระบบโซล่าเซลล์เดิม หลังติดตั้งเสร็จแล้วก็จะสามารถติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเพิ่มได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ ซึ่งช่วยในการลดภาระของผู้ใช้ และเป็นแนวทางที่ Panasonic ใช้ในการนำแบตเตอรี่สำรองเข้าสู่ตลาดโซล่าเซลล์ในครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ Panasonic ใช้นั้นมีข้อเสียในเรื่องของการสูญเสียพลังงานซึ่งเกิดจากการแปลงกำลังไฟผ่านอุปกรณ์จำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตหลายรายเล็งเห็นในจุดนี้ และทุ่มเทงบประมาณให้กับการพัฒนา Power Conditioner และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานให้กลายเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวกันเพื่อลดอัตราการสูญเสียกำลังไฟ

ทาง Murata Manufacturing ได้ประกาศผลิต “All-in-One Power Storage System” ภายในปี 2018 นี้ ซึ่งนอกจากจะลดอัตรการสูญเสียพลังงานลงได้แล้ว ยังมีความปลอดภัยสูง ซึ่งเป็นผลจากการนำวัสดุที่เรียกว่า Olivine-Type Lithium Iron Phosphate มาใช้ผลิตเป็นแบตเตอรี่รองแบบลิเธียมไอออน ทำให้แบตเตอรี่ทนความร้อนได้สูง เกิด Thermal runaway ได้ยาก และมีอายุการใช้งานยาวนานมากถึง 15 ปี

นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวอีกอย่างของ Murata คือการเข้าซื้อธุรกิจด้านแบตเตอรี่ของ Sony เมื่อปี 2017 ซึ่งประธานบริษัท Murata Mr. Tsuneo Murata กล่าวว่า เป็นการเข้าซื้อที่ทำให้ Murata สามารถเข้าถึงตลาดที่ต้องการอายุการใช้งานและพลังงานสูงได้

ทางด้านบริษัท Nichicon นั้น ได้ตั้งเป้าวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดอื่นนอกเหนือจากโซล่าเซลล์และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานด้วย ซึ่งก็คือตลาดยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ที่จะออกสู่ตลาดนี้ในเดือนมิถุนายนก็คือ “Tribrid Energy Storage System” ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับระบบ Vehicle-to-home (V2H) ได้ โดยมีคุณสมบัติในการควบคุมไฟฟ้ากระแสตรงได้โดยที่มีอัตราการสูญเสียพลงงานต่ำ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าไฟให้ต่ำลงได้ ซึ่งเป็นแผนการรุกทั้งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและตลาดโซลล่าเซลล์ในครัวเรือนไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียใหญ่ที่สุดของโซล่าเซลล์ คือความสามารถในการกำเนิดพลังงานที่แปรผันไปตามสภาพอากาศ ทำให้อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือเทคโนโลยีในการควบคุมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานของโซล่าเซลล์นั่นเอง

ในส่วนของ Sharp ได้เปิดตัวเทคโนโลยีการควบคุมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานผ่านคลาวด์ในชื่อ “Cloud Storage Battery System” ซึ่งมีคุณสมบัติในการวิเคราะห์สภาพอากาศ พยากรณ์อากาศล่วงหน้า และสภาพการใช้ไฟฟ้า เพื่อปรับการใช้ไฟฟ้าห้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นการนำระบบควบคุม Home Energy Management System (HEMS) ของทางบริษัทที่พัฒนาขึ้นในปี 2017 มาพัฒนาต่อยอด ทำให้สามารถตรวจสอบการใช้ไฟได้จากสมาร์ทโฟน รวมถึงการปิดหน้าต่างไฟฟ้าได้อัตโนมัติหากมีพายุฝน เสริมความปลอดภัยให้บ้านขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

สำหรับบริษัท Kyocera ตัดสินใจใช้ AI ในการควบคุมระบบ HEMS โดยการคำนวณพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินล่วงหน้า เพื่อควบคุมการปล่อยกระแสไฟในบ้าน รวมถึงเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น Heat Pump Water Heater “EcoCute” ซึ่งประธาน Hideo Tanimoto กล่าวว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนา AI เพื่อให้สามารถแบ่งจ่ายพลังงานได้ตามปริมาณกระแสไฟฟ้าที่สร้างได้

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบซึ่งใช้ Solid Oxide Fuel Cell (SOFC) โดยสมบูรณ์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าโซลล่าเซลล์เพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานได้ ซึ่งได้เน้นไปที่การพัฒนาให้แบตเตอรี่มีความจุสูง และอายุการใช้งานนาน โดยมีกำหนเทดสอบใช้งานภายในปี 2018 นี้

ในส่วนของชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันเป็นระบบโซล่าเซลล์นั้น ก็มีความต้องการชิ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากแต่ก่อน โดยเฉพาะชิ้นส่วนซึ่งส่งผลในการลดอัตราการสูญเสียพลังงานได้ จึงกลายเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาสินค้าของทางผู้ผลิต ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เซมิคอนดัคเตอร์ซึ่งผลิตจาก Silicon Carbide (SiC) ที่นำไฟฟ้าได้ดีมีความต้องการในตลาดสูงขึ้น จนกระทั่งจะแซงหน้าเซมิคอนดัคเตอร์แบบซิลิคอนทั่วไปในปัจจุบันนี้ได้

ปัจจุบัน Rohm มีส่วนแบ่งในตลาดผู้ผลิตสินค้า SiC เช่น Schottky Barrier Diode (SBD) และ MOSFET (Metal–Oxide–Semiconductor Field-Effect Transistor) มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งการเติบโตของตลาดพลังงาน ส่งผลให้ Rohm ตัดสินใจสร้างอาคารใหม่ 2 แห่ง คือ ROHM Apollo (เมืองฮิโรคาวะ จังหวัดฟุคุโอกะ) และโรงงานชิคุโกะ (เมืองชิคุโกะ จังหวัดฟุคุโอกะ) ซึ่งคาดว่าหลังก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเสริมกำลังผลิตในเขตจังหวัดฟุคุโอกะให้มากขึ้นเป็น 2 เท่าได้ในปี 2020

 

ในอีกด้านหนึ่ง ได้มีความพยายามในการลดค่าใช้จ่ายของโซลล่าเซลล์ขนาดใหญ่ ด้วยการใช้แผงโซลล่าเซลล์ทั่วไปมาประกอบกันโดยตรง และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งกระแสไฟฟ้าด้วยการเพิ่มแรงดันไฟฟ้าให้สูงขึ้น ซึ่ง Sansha Electric MFG ได้เล็งเห็นในจุดนี้ จึงทำการพัฒนา Backflow Prevention Diode ซึ่งทนแรงดันไฟฟ้าได้ถึง 1,500 โวลต์ขึ้น เพื่อใช้ในการปกป้องแผงโซล่าเซลล์ โดยมีกำหนดเปิดรับออเดอร์ภายในปี 2018 นี้