เกาะติดเทรนด์ Local 5G ใช้แล้วในโรงงานญี่ปุ่น

เกาะติดเทรนด์ Local 5G ใช้แล้วในโรงงานญี่ปุ่น

อัปเดตล่าสุด 30 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 11,246 Reads   

Local 5G คือ การติดตั้งเครือข่าย 5G ในพื้นที่จำกัด โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในพื้นที่นั้น เช่น อุปกรณ์ IoT, หุ่นยนต์, โดรน, ยานยนต์อัตโนมัติ, AGV, และอื่น ๆ

Advertisement

ในปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเครือข่าย 5G เริ่มถูกนำมาใช้งานในหลายประเทศ ซึ่งคุณสมบัติของ 5G ทั้งความเร็วในการรับส่งข้อมูล และความหลากหลายในการใช้งาน ทำให้เทคโนโลยี 5G มีความสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยีไร้สายอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเองก็ได้ให้ความสนใจและเร่งศึกษาการใช้งาน 5G ในบริเวณจำกัด หรือที่เรียกว่า “Local 5G”

หากเทียบกับ 4G แล้ว 5G มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงกว่าราว 100 เท่า ซึ่งหมายความว่า 5G สามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์ความยาว 2 ชั่วโมงได้ภายในเวลาเพียง 3 วินาทีเท่านั้น ทำให้ 5G ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค และอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถถ่ายทอดสดในคุณภาพ 4K ได้  

แต่สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจไม่ใช่แค่ความเร็ว แต่เป็นคุณสมบัติในการเชื่อมต่อ ซึ่ง 5G สามารถเชื่อมต่อกับตัวรับส่งสัญญาณได้มากถึง 1,000,000 จุด ภายในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นผลจากคุณสมบัติ ultra-low latency ทำให้ 5G สามารถนำมาใช้ในการเชื่อมต่อเครื่องจักรกลแบบเรียลไทม์ การควบคุมหุ่นยนต์จากทางไกล การเชื่อมต่อระหว่างยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน จึงกล่าวได้ว่า 5G เป็นกุญแจสู่ IoT อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้เอง ภาคอุตสาหกรรมจึงให้ความสำคัญกับการนำ 5G มาใช้งาน และการให้บริการด้าน 5G กลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจมากยิ่งขึ้น และเร่งศึกษาการใช้ 5G ในบริเวณจำกัด หรือ “Local 5G”

ทำความรู้จักกับ “Local 5G”

Local 5G การติดตั้งเครือข่ายการใช้ 5G ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น การติดตั้ง 5G เฉพาะในพื้นที่โรงงานของตน การใช้ 5G ในบริเวณรัฐบาลท้องถิ่น หรือการติดตั้งในสถานพยาบาล ซึ่งผู้ใช้สามารถติดตั้งได้เองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ให้บริการเครือข่าย 

จากการระบาดของโควิดในปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ญี่ปุ่นเล็งเห็นว่า 5G และ IoT จะมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นได้นิยาม Local 5G ไว้ ดังนี้

  1. ต้องเป็นเทคโนโลยี 5G
  2. ต้องเป็นเครือข่ายขนาดเล็ก สำหรับการใช้งานในพื้นที่จำกัด
  3. สามารถขอรับใบอนุญาตได้ด้วยตนเอง หรือให้ผู้บริการที่มีใบอนุญาตติดตั้งระบบให้

โดยกระทรวงฯ แสดงความเห็นว่า การกำหนดนิยามพื้นฐานมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเทคโนโลยีใหม่ที่หลายธุรกิจยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่ง 5G ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเหล่านั้น และการตั้งนิยามเช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้งานมีความเข้าใจตรงกันแล้ว ยังทำให้การออกกฎข้อบังคับในอนาคตไปจนถึงการนำ 5G มาใช้งานทำได้ง่ายยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ Local 5G จำเป็นต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้ 

นอกจากนี้ การระบาดของโควิดยังเป็นเครื่องยืนยันว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเกิดการ Digital Transformation อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และพบว่าปัจจุบัน ในหลายประเทศ และหลายภาคส่วนยังมีความล่าช้าในด้านนี้ โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ การศึกษา และอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งโควิดทำให้เห็นถึงความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่ติดขัด 

Mitsubishi Electric ทำการทดสอบ Local 5G นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2020 ในขณะที่ Hitachi และ Toshiba ได้ยื่นขอใบอนุญาตตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยทุกบริษัทมีเป้าหมายตรงกันว่า Local 5G จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานได้

DMG Mori เป็นอีกบริษัทที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน Local 5G โดยนำมาใช้ในการเชื่อมต่อโคบอทส์, ใช้ควบคุม AGV จากทางไกล, และอยู่ระหว่างทดสอบความเป็นไปได้ในการนำ 5G มาผนวกกับ Machine Tools เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไปจนถึงการกำจัดเศษตัด ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปปรับใช้ในการให้บริการต่อไป อีกทั้งมีแผนเปิดศูนย์ทดลองเครื่องจักรกลที่ใช้เทคโนโลยี 5G, AI, และ Digital Transformation ในปี 2022 อีกด้วย

กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2021 ทางกระทรวงฯ มีแผนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา Local 5G ด้วยเงินลงทุน 6.5 หมื่นล้านเยน เพื่อให้เกิดการใช้งาน 5G ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีแผนลงทุนศึกษาเทคโนโลยี 6G อีก 7 หมื่นล้านเยน เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้กำหนดมาตรฐาน 6G ได้ในอนาคต 

NTT DoCoMo ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่จากญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า 6G จะเริ่มถูกนำมาใช้งานในช่วงปี 2030 และคาดว่าจะมีความเร็วสูงกว่า 5G อีก 100 เท่า ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่า จะถูกนำมาใช้กับ Wearble Devices รูปแบบใหม่ ๆ และบริการด้าน Virtual Reality (VR) ที่จะก้าวหน้าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน