350-หุ่นยนต์-5G-ROC-AIS-โควิด-19

ROC หุ่นยนต์ 5G New Normal การแพทย์

อัปเดตล่าสุด 21 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 1,027 Reads   

นอกจากจะได้เริ่มนำหุ่นยนต์อย่าง Alex มาให้บริการใน AIS Shop ตั้งแต่ปี 2561 และมีเสริมทัพมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Lisa, Hugo

ล่าสุด “เอไอเอส” ยังเดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อช่วยแพทย์รับมือกับไวรัสโควิด-19 “ROC : Robot for care” ภายใต้ภารกิจ “AIS 5G สู้ภัยโควิด-19”

“วสิษฐ์ วัฒนศัพท์” หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส ระบุว่า นี่คือเวลาที่จะนำศักยภาพเครือข่าย 5G ที่ทรงพลานุภาพ และความเชี่ยวชาญของคนเอไอเอสมาช่วยกันรับมือไวรัสโควิด-19

โดยเป็นการพัฒนาแบบ “เฉพาะเจาะจง” ตามความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงให้กับแพทย์ที่เป็นแนวหน้า ภายใต้การทำงานของทีมเฉพาะกิจ AIS ROBOTIC LAB by AIS NEXT และได้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลราชวิถี จุฬาลงกรณ์ ศิริราช รามาธิบดี สถาบันบำราศนราดูร ฯลฯ แล้ว และจะเร่งพัฒนาให้ครบทั้ง 23 ตัว 22 ร.พ.ภายใน พ.ค. นี้

“เมื่อเอไอเอสเป็นดิจิทัลเซอร์วิสโพรไวเดอร์ จึงเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่ทำงานด้วย 5G แต่ละ รพ.นำไปใช้ต่างกัน อาทิ ให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ในแผนกคัดกรองเป็นด่านหน้าในการซักประวัติ วัดอุณหภูมิ หรือการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในห้องความดันลบที่เป็นห้องผู้ป่วยโควิด โดยจะส่งมอบทั้งหุ่นยนต์และการติดตั้งโครงข่าย 5G ในพื้นที่

ด้าน “อราคิน รักษ์จิตตาโภค” หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม เอไอเอส เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ ROC จะถูกดีไซน์การใช้งานออกเป็น 3 แบบ คือ 1.ใช้เพื่อเดินตระเวนสแกนอุณหภูมิผู้คน และจะแจ้งเตือนเมื่อพบผู้ที่มีอุณหภูมิสูง 2.ใช้เพื่อเดินไปตามจุดที่กำหนดไว้ในห้องผู้ป่วยหรือในพื้นที่ รพ. เพื่อทำภารกิจที่กำหนด อาทิ การวัดอุณหภูมิหรือส่งยาให้ผู้ป่วย 3.ให้แพทย์เป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ให้เดินทางได้ตามที่ต้องการ โดยใช้การควบคุมระยะไกลจากแท็บเลต และดูเส้นทางจากกล้องที่ติดไว้บนตัวหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นการใช้คุณสมบัติเด่นของ 5G ในการทำงาน

โดยหุ่นยนต์จะติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ อาทิ วัดอุณหภูมิ วัดความหนาแน่นของออกซิเจนในเลือด ความดันเลือด และประยุกต์การออกแบบกลไกใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง ทั้งยังสามารถส่งข้อมูลของตัวหุ่นยนต์ อาทิ แบตเตอรี่ ให้ศูนย์ควบคุมจากเอไอเอสมอนิเตอร์และสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาได้ทันทีโดยไม่ต้องมาถึงไซต์งาน”

ทั้งเตรียมจะพัฒนาเพิ่ม อาทิ หุ่นยนต์ที่ทำความสะอาดหุ่นยนต์ด้วยกันเอง หรือทำความสะอาดเครื่องใช้หรือห้องต่าง ๆ ใน รพ. หรือการใช้แมชีนเลิร์นนิ่งเพื่อเทียบเคียงภาพสแกนจากความร้อนในร่างกาย หุ่นยนต์นำทางผู้ป่วยไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ใน รพ.

“ในโลกของ IOT 5G จะเป็นกระดูกสันหลังในการพัฒนาด้านการแพทย์ ให้เกิดการเชื่อมต่อกันของอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งจากหุ่นยนต์ จากแวร์เอเบิลดีไวซ์ที่ผู้ป่วยสวมใส่ ซึ่งช่วยวัดค่าต่าง ๆ วิเคราะห์แล้วแจ้งเตือนไปยังแพทย์ได้ทันที โดยอาศัยหุ่นยนต์ IOT 5G และ big data”

และต่อไปการแพทย์ที่อาศัย 5G ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ หรือ telemedicine จะกลายเป็น new normal ของวงการแพทย์