ไทย-อียู FTA: ความหวังที่สดใสท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก (ตอนจบ)

อัปเดตล่าสุด 25 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 618 Reads   

ต่อจากบทความตอนแรก ที่ได้เกริ่นนำถึงความเป็นมาของความหวังในการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่หยุดชะงักไปกว่า 6 ปี รวมถึงนำเสนอประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลงไทย-อียู FTA นั้น ในบทความตอนจบนี้ เราจะมาเรียนรู้ประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ และอาจส่งผลต่อทิศทางการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA กับไทย

ปัจจุบันอียูเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับ 3 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งในจำนวนนี้ ไทยส่งออกไปอียู 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียู 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้น 5% และ 8% จากปี 2560 ตามลำดับ ด้านการลงทุน อียูเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของไทยรองจากญี่ปุ่นและอาเซียน โดยมีมูลค่าการลงทุนในไทย ณ สิ้นปี 2561 รวม 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย)

อย่างไรก็ดี การเจรจาความตกลง FTA ไทย-อียูอาจไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องใช้เวลา โดยประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงไทย-อียู FTA มีดังนี้

1. การทำความตกลง FTA กับอียู จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำความตกลงการค้าเสรีของไทย โดยเฉพาะประเด็นการเปิดเสรีภาคบริการ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าข้อบทใหม่ที่อียูใช้ในการเจรจาความตกลง FTA กับประเทศต่างๆ ในระยะหลัง คือ ข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Trade and Sustainable Development) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงาน ทั้งนี้ คาดว่าอียูจะใช้ความตกลง FTA กับสิงคโปร์และเวียดนามที่เพิ่งลงนามไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และมิถุนายน 2562 ตามลำดับ เป็นต้นแบบในการเจรจากับไทย

ซึ่งจากการสังเกตการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างอียูกับเวียดนามและสิงคโปร์ พบว่าเนื้อหาการเจรจามีรายละเอียดและครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเจรจาใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้น รวมทั้งอาจเพิ่มแรงกดดันให้ไทยต้องยอมรับข้อเรียกร้องต่างๆ ของอียู ทั้งในเรื่องการเปิดตลาดยา รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานอียูที่มีความเข้มงวดมากที่สุดมาตรฐานหนึ่งของโลก นอกจากนี้ การเจรจายังรวมถึงเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผลประโยชน์สำคัญของอียู รวมทั้งกฎระเบียบด้านการแข่งขันทางการค้า การเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การระงับข้อพิพาทในการลงทุนระหว่างภาคเอกชนกับรัฐ การค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ กรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม ที่ผ่านมา มีตัวอย่างของ FTA ระหว่างอียู-สาธารณรัฐเกาหลี ในกรณีสิทธิในด้านแรงงานที่อียูตัดสินใจจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทต่อเรื่องการดำเนินตามพันธกรณี

2.สำหรับประเด็นการเปิดเสรีภาคบริการซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของไทยและเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจอื่นอาจส่งผลในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ทางอียูต้องการผลักดันในเรื่องของการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน คือการเข้าถึงตลาดที่อียูมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะสาขาโทรคมนาคม การเงิน และการขนส่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าในตลาดที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเหล่านี้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลที่ดีจากภาครัฐ

3.ความพยายามจัดทำความตกลง FTA ระหว่างอียูกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ กลุ่มประเทศ Mercosur ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยเป็นเจ้าตลาดในอียู อาทิ เนื้อไก่และน้ำตาล เป็นที่น่าจับตามองเนื่องจากจะเป็นช่องทางให้สินค้าคู่แข่งจากประเทศเหล่านั้นมีความได้เปรียบสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น และจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดยุโรป ตลอดจนสิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทำ FTA กับอียูในอนาคต

4.ประเด็นการเมืองภายในอียูอาจส่งผลต่อทิศทางการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA กับไทย ซึ่งล่าสุดนาง Ursula von der Leyen รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนีซึ่งเป็นนักการเมืองสาย Pro-EU ได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงข้างมากในสภายุโรปให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (President of the European Commission) คนใหม่แทนนาย Jean-Claude Juncker แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเสียงสนับสนุนจากกลุ่มพรรคการเมืองผสม 383 เสียงจาก 733 เสียง เป็นคะแนนที่ค่อนข้างจะ “ปริ่มน้ำ” ซึ่งสร้างความกังวลในแง่เสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางการเมือง และอาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหรือการผ่านร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการยุโรปมีความยากลำบากเนื่องจากต้องประสานประโยชน์และข้อขัดแย้งกับกลุ่มต่างๆ อีกทั้งการที่ฝ่ายพรรคการเมืองฝ่ายขวาและฝ่ายขวาจัดมีจำนวนที่นั่งในสภายุโรปมากขึ้นก็อาจทำให้การเจรจาผลประโยชน์มีความเข้มข้นและซับซ้อนมากขึ้นได้

ทั้งนี้ คาดว่าอียูจะยังคงผลักดันให้คู่เจรจาความตกลง FTA ต่าง ๆ ดำเนินการตามค่านิยมหลักของอียู อาทิ ประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรีที่เป็นธรรม ตลอดจนสิทธิมนุษยชนต่อไป รวมทั้งประเด็นที่เป็นนโยบายสำคัญของอียู เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมทางเพศ ที่อาจได้รับการผลักดันให้เป็นมาตรฐานใหม่ในการเจรจาความตกลงการค้ากับอียูต่อไป

 

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com