กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal

อัปเดตล่าสุด 6 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 624 Reads   

โอกาสของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะไทยในตลาดโลก ตอนที่ 1 กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด โดยมีสัดส่วนการส่งออกมากถึงร้อยละ 27 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2022 อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่ม First S-Curve ของไทยที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้สามารถเติบโตสอดคล้องไปกับความต้องการของตลาดในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมืออัจฉริยะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

จากจุดแข็งของไทยในการเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทข้ามชาติมาอย่างยาวนาน รวมทั้งมีห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง หากไทยต้องการสร้าง Supply Chain ที่มีมูลค่าสูง เพิ่มมูลค่าการส่งออกและการลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้มีศักยภาพสูงขึ้นและมีความพร้อมในการแข่งขันกับโลกสมัยใหม่ ไทยจำเป็นต้องศึกษา “โอกาส” ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการมุ่งเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ Smart Home, Smart Factory, Smart Hospital, Smart Farm และ EV เพื่อให้สามารถนำเสนอนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ตรงตามความต้องการสินค้าของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การศึกษาแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของโลก ได้แก่ เกาหลีใต้ (South Korea) สิงคโปร์ (Singapore) สหรัฐฯ (USA) ไต้หวัน (Taiwan) และสหภาพยุโรป (EU) จะทำให้เห็นทิศทางการพัฒนาที่มาจากยุทธศาสตร์ระดับชาติ เนื่องจากยุทธศาสตร์ การพัฒนาของประเทศเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงโอกาสของตลาดภายในประเทศเท่านั้น

แต่ยังหมายถึงโอกาสในการต่อยอดเพื่อการส่งออกด้วย และแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะกลายเป็นต้นแบบหรือเป็นตัวชี้นำทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของโลกในอนาคต ซึ่งในบทวิเคราะห์ฉบับนี้จะนำเสนอการยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal

กรณีศึกษา: การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกาหลีใต้ ผ่านแผน Korean New Deal

กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

เกาหลีใต้ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติ Korean New Deal: National Strategy for a Great Transformation เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2020 ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเกาหลีใต้ให้เป็น Smart Country ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล Green Country ประเทศที่มีการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ และ Safe Country ประเทศที่มีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมคาดว่าแผนดังกล่าวจะเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้แก่เกาหลีใต้และสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ภาพรวมการค้าของเกาหลีใต้

สำหรับภาพรวมการค้าของเกาหลีใต้ในช่วงปี 2013-2022 พบว่า การนำเข้าสินค้าของเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 3.96 หรือมีมูลค่าการนำเข้าจาก 515,586 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 731,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 สินค้าหลักที่เกาหลีใต้นำเข้าในปี 2022 ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นสิ่งดังกล่าว สารบิทูมินัส ไขที่ได้จากแร่ (HS 27) ร้อยละ 29.9 และสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (HS 84 และ HS 85) โดยมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 27.4 ขณะที่ประเทศคู่ค้าหลักที่เกาหลีใต้นำเข้าสินค้า ได้แก่ จีนและสหรัฐฯ

ในขณะที่ การส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 2.24 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 559,632 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 683,585 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 สินค้าหลักที่เกาหลีใต้ส่งออก ได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (HS 84 และ HS 85) โดยมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 41.4 และสินค้ายานบกนอกจากรถที่เดินบนรางรถไฟหรือรางรถราง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานดังกล่าว (HS 87) ร้อยละ 11 ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่เกาหลีใต้มีสัดส่วนการส่งออกสินค้ามากที่สุด ได้แก่ จีนและสหรัฐฯ

กราฟที่ 1 ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ ปี 2013-2022

กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมแผน Korean New Deal ของเกาหลีใต้

ภายใต้แผน Korean New Deal รัฐบาลเกาหลีใต้ได้นำเสนอนโยบายหลัก 2 ประการ ได้แก่ Digital New Deal และ Green New Deal รวมไปจนถึงการสนับสนุนนโยบายที่ครอบคลุมเพื่อเสริมสร้างการจ้างงานและเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม หรือ Social Safety Net โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ภาพที่ 1 Overview of the Korean New Deal

กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

Digital New Deal มีเป้าหมายเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลโดยให้ความสำคัญใน 4 เรื่อง ดังต่อไปนี้ 

1) Stronger Integration of DNA throughout the Economy: ส่งเสริมการใช้งานข้อมูล เครือข่าย และปัญญาประดิษฐ์ (Data, Network and Artificial Intelligence: DNA) ในทุกภาคส่วนเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลใหม่ ๆ

2) Digitalization of Education Infrastructure: ผสมผสานดิจิทัลเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา เช่น High-Speed Classroom Wi-Fi และ Virtual Training (AR and VR) เป็นต้น 

3) Fostering the ‘Untact’ Industry: ส่งเสริมอุตสาหกรรม Untact หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแบบไม่ต้องสัมผัสหรือแบบเห็นหน้ากัน เช่น Smart Medical and Care และ 4) Digitalization of Social Overhead Capital (SOC) ใช้เทคโนโลยี ICT กับบริการพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น IoT Sensors Robotics, IoT and Big Data เป็นต้น

1 DNA หมายถึง ข้อมูล เครือข่าย และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็น 3 อุตสาหกรรมแห่งนวัตกรรมที่ได้รับเลือกโดยคณะกรรมการประธานาธิบดีแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่

2 Untact เป็นคำที่รวม 'un' กับ 'contact' ใช้ในเกาหลีใต้เพื่ออ้างถึงการทำงานแบบไม่ต้องสัมผัส (Non-Contact) หรือแบบเห็นหน้ากัน (Non-Face-to-Face) เช่น การทำงานระยะไกล (Remote Work)

 

Green New Deal เกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายที่จะกลายเป็นประเทศที่มีการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ 

โดยให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้ 1) Green Transition of Infrastructures สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้อุปกรณ์พลังงานทดแทนและฉนวนประสิทธิภาพสูง เป็นต้น 2) Low-Carbon and Decentralized Energy ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและ 3) Innovation in the Green Industry สร้างโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น การใช้ Micro Power Grid เป็นต้น

นอกจากนี้ Korean New Deal ยังสร้างระบบการจ้างงานและระบบความปลอดภัยทางสังคมที่แข็งแกร่ง (Stronger Safety Net) ขึ้น รวมถึงเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ประเทศเกาหลีใต้สามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ Stronger Safety Net จะให้ความสำคัญใน 2 เรื่อง ดังต่อไปนี้ 1) Employment and Social Safety Net สร้างการจ้างงานและความปลอดภัยทางสังคม และ 

2) Investment in Human Resources ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในงานประเภทใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Digital และ Green

ภาพที่ 2 Korean New Deal 2.0 Structure

กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: Korean New Deal 2.0 (July 2021) รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศแผน Korean New Deal 2.0 ซึ่งเป็นการอัปเกรดจากแผน Korean New Deal เดิม ไม่ว่าจะเป็น 1) การขยาย Stronger Safety Nets ไปสู่ Human New Deal โดยรัฐบาลจะเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงเพิ่มการสนับสนุนให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 และ 

2) เพิ่มงานใหม่และขยายหรือแก้ไขงานที่มีอยู่เพื่อตอบสนองต่อดิจิทัลและความเป็นกลางทางคาร์บอนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การดำเนินการโครงการท้องถิ่นของ Korean New Deal (Korean New Deal Local Projects) ภายใต้ Regional New Deal เป็นต้น

ภาพรวมการค้าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้

การลงทุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาลและการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทำให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงปี 2013-2022 การนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 8.3 หรือมีมูลค่าการนำเข้าจาก 74,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 152,479 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 ในขณะที่ การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 7.2 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 124,255 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 233,796 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 โดยสินค้าสำคัญที่เกาหลีใต้นำเข้าและส่งออกในปี 2022 ได้แก่ สินค้าวงจรรวม ขณะที่ประเทศคู่ค้าหลักที่เกาหลีใต้นำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คือ จีน

ภาพที่ 3 ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ปี 2022

กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

*อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับปี 2021

ที่มา: Global Trade Atlas และศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU) รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

แผน Korean New Deal ของเกาหลีใต้กับการสนับสนุนการเติบโตของ Smart Domain

ภาพที่ 4 ภาพรวมการสนับสนุน Smart Domain ผ่านแผน Korean New Deal

กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

แผน Korean New Deal ของเกาหลีใต้ จะเป็นโอกาสในการสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมายของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีศักยภาพ (Smart Domain) 4 กลุ่ม ได้แก่ บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) รวมไปจนถึงกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากแนวทาง Digital New Deal ภายใต้แผน Korean New Deal จะนำไปสู่การสร้างความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตผ่านการใช้เทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ตัวอย่างเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ที่ช่วยสร้างความสะดวกสบาย เช่น การควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านสมาร์ทโฟน เป็นต้น และตัวอย่างเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการดำรงชีวิต เช่น กล้องวงจรปิดอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวภายในบ้านและนอกบ้านได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น 

การให้บริการทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่นโยบาย Digital New Deal ให้ความสำคัญ จึงเป็นโอกาสของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ดูแล (Care Robots) เพื่อให้สามารถติดตามผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ การใช้ซอฟต์แวร์ที่ใช้ AI ในการวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ การใช้เซนเซอร์ IoT ที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงอุปกรณ์ด้านสุขภาพ เช่น ลำโพง AI ที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของการรับรู้ในผู้สูงอายุ เป็นต้น

การมุ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวางยังเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยการส่งเสริมการใช้ 5G และ AI ในอุตสาหกรรมเพื่อควบคุมและตรวจสอบการผลิต ตัวอย่าง 5G และ AI ที่นำมาใช้งานในสายการผลิต เช่น การใช้ AI ตรวจสอบตำหนิของสินค้าในไลน์การผลิต (Defect Detection) ได้แบบเรียลไทม์ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินงานด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้แผน Korean New Deal ยังทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการฟาร์มได้มากขึ้นและยกระดับไปสู่ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) ได้อีกด้วย เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมในฟาร์มปศุสัตว์อย่างการใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจวัดค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ตรวจวัดอุณหภูมิของน้ำ ตรวจวัดค่ากรด-เบสของน้ำ หรือเทคโนโลยีการตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นของเรือนกระจกเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโตที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพืชที่ปลูกในเรือนกระจกอัจฉริยะ เป็นต้น

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่มีการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์โดยมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินนโยบาย Green New Deal ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนการจัดหารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โลก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านแบตเตอรี่และสถานีชาร์จแบตเตอรี่ รวมไปจนถึงการให้ความสำคัญใน Green Transition of Infrastructures หรือการมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง Green New Deal ยังทำให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านพลังงานอีกด้วย ตัวอย่างแพลตฟอร์มด้านพลังงาน เช่น แพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ (Smart Power Platforms) สำหรับบ้านเพื่อการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

สรุป

ภายใต้แผน Korean New Deal ของเกาหลีใต้นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านนโยบาย Digital New Deal เช่น การส่งเสริมการใช้งานข้อมูลเครือข่าย และปัญญาประดิษฐ์ (DNA) ในทุกภาคส่วน การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแบบไม่ต้องสัมผัส การใช้เทคโนโลยี ICT กับบริการพื้นฐานที่สำคัญ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเป็นประเทศที่มีการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ โดยใช้นโยบาย Green New Deal ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนและสร้างโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมสีเขียว นอกจากนี้ Korean New Deal ยังสร้างระบบการจ้างงานและระบบความปลอดภัยทางสังคมที่แข็งแกร่ง (Stronger Safety Net) ขึ้น เพื่อเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และสามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงได้ และในปี 2021

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศแผน Korean New Deal 2.0 ซึ่งเป็นการอัปเกรดจากแผน Korean New Deal เดิม โดยขยาย Stronger Safety Nets ไปสู่ Human New Deal ซึ่งเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าแผน Korean New Deal ของเกาหลีใต้นั้น มีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกในปัจจุบันทั้งการมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในทุกภาคส่วน สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีศักยภาพ (Smart Domain) 4 กลุ่ม ได้แก่ บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) รวมไปจนถึงกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) การเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ มีศักยภาพ (Smart Domain) และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของเกาหลีใต้จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการเกาหลีใต้ในการผลิตชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งานที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2022 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการค้ารวมในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กับเกาหลีใต้ 4,007 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้ ไทยอาจศึกษาแนวทางการดำเนินนโยบายของเกาหลีใต้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีศักยภาพ (Smart Domain) และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทย ซึ่งในอนาคตอันใกล้กลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้ Smart Domain ดังกล่าวจะสร้างมูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

3 มูลค่าการค้ารวมในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (HS 84 และ HS 85) จาก Global Trade Atlas

 

จัดทำโดย แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH