สศอ. เปิดอุตสาหกรรมเด่นสุดปัง ปี 2566 แนะปรับตัวตามเทรนด์โลก, อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

เปิดโผ 8 อุตสาหกรรมเด่นเติบโตสูงในปี 2566

อัปเดตล่าสุด 7 ก.พ. 2566
  • Share :
  • 5,328 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย 8 อุตสาหกรรมเด่นที่จะขยายตัวในปี 2566 รับประโยชน์จากการขยายตัวของตลาดโลก สถานการณ์ภายในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ หนุนเศรษฐกิจและการบริโภค แนะผู้ประกอบการต้องเร่งคว้าโอกาส พร้อมปรับตัวเผชิญกับความท้าทายและความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2566 มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2565 แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวเผชิญกับความท้าทาย ทั้งความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ และภัยธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุม ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตที่หนักหน่วงอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาแล้ว โดยเริ่มมีการฟื้นตัวนับตั้งแต่กลางปี 2565 ภายหลังทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ช่วยให้รายได้กลับเข้าสู่เศรษฐกิจระดับชุมชนอีกครั้งและการดำเนินธุรกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตเริ่มฟื้นตัวรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งมีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเร่งคว้าโอกาสและปรับตัวเผชิญกับความท้าทาย และความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตโดดเด่นในปี 2566 ได้แก่

1. ยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทรถยนต์ที่ผลิตรถยนต์ประเภทดังกล่าวเติบโตตามความต้องการที่มากขึ้น สะท้อนได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์ xEV ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดทุกประเภท นอกจากนี้ ในปี 2565 ยอดการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทและรถจักรยานยนต์มีการเติบโตมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก โดยปี 2566 ได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ 1.95 ล้านคัน และรถจักรยานยนต์ 2.1 ล้านคัน

2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการใช้ที่สูงขึ้นอย่างมาก จากการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการจากตลาดโลกสูงมาก รวมถึงการเชื่อมโยงกิจกรรมการผลิต  เข้ากับระบบอัตโนมัติหลากหลายประเภท ช่วยผลักดันให้การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผ่นวงจรรวม (IC) และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA)

3. อาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาหารทางการแพทย์ และอาหารสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งเครื่องดื่มสมุนไพร เติบโตจากกระแสรักษ์และดูแลสุขภาพที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

4. เครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น สามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ละอองสารพิษ ควบคู่กับการประหยัดพลังงาน การนำ AI เข้ามาใช้การควบคุมอุณหภูมิห้องหรือรับคำสั่งผ่านระบบอัจฉริยะ และการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ

5. พลาสติกชีวภาพ กลุ่มพลาสติกปลอดสารพิษและย่อยสลายได้ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับทำบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รองรับเทรนด์รักษาสุขภาพและการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น

6. เภสัชภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ โดยเฉพาะยาเม็ดสกัดจากสมุนไพรได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ฟ้าทะลายโจร แคปซูลขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหยผ่อนคลายความตึงเครียด ลูกประคบสมุนไพร ส่งผลให้การผลิตเพิ่มมากขึ้นรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศ และมีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เป็นอย่างมาก

7. สิ่งทอเทคนิค จากเป็นเส้นใยประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตขึ้นให้มีคุณสมบัติตามการใช้งาน ย่อยสลายเองได้ มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผ้าทอกันน้ำ ผ้ากันไฟ จึงนิยมนำมาใช้ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่เน้นจุดขายด้านนวัตกรรมใหม่ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

8. ยางล้อรถประหยัดพลังงาน ได้แก่ ยางรถยนต์นวัตกรรมใหม่ประหยัดน้ำมัน ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถยึดเกาะถนนได้ดี และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น

“ในปี 2566 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยห่วงโซ่อุปทานสามารถกลับมาดำเนินได้ตามปกติ และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประกอบการผลิตคลี่คลายลง จะส่งผลให้ภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการทยอยเข้ามาลงทุนภายในประเทศ นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อและระดับราคาสินค้าเริ่มชะลอตัวลงในหลายประเทศ อาจเป็นปัจจัยหนุนให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้ามีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต ตลอดจนการเปิดประเทศของจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้การผลิตรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศมีโอกาสเติบโตต่อไปได้” นางวรวรรณ กล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH