กรณีศึกษา ธุรกิจ SME เครื่องมือแพทย์ โตก้าวกระโดด ทำอย่างไร

อัปเดตล่าสุด 1 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 12,956 Reads   

กรณีศึกษา ธุรกิจ SME เครื่องมือแพทย์ 8 รายในญี่ปุ่น รวมกลุ่มจัดตั้ง SESSA นำมาซึ่งการเติบโตของยอดขาย 50 เท่าในระยะเวลา 6 ปี เผยเคล็ดลับการสร้างพันธมิตรนำมาซื่งความสำเร็จทางธุรกิจ

“SESSA” เครือข่ายผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วย SME 8 บริษัทจากจังหวัด Nagano เริ่มธุรกิจออกแบบและผลิตเครื่องมือแพทย์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องมือตรวจภายในออกสู่ตลาด 2 ชนิด นำมาซึ่งการเติบโตของยอดขาย 50 เท่าในระยะเวลา 6 ปี และกำลังจะเข้าสู่ตลาดประเทศเยอรมนีเป็นเป้าหมายถัดไป

Mr. Keita Suzuki ผู้จัดการทั่วไปแผนกเครื่องมือแพทย์ และประธานบริษัท Nano Grains หนึ่งใน SME ผู้ร่วมก่อตั้ง SESSA รายงานว่า นับแต่ก่อตั้ง SESSA สมาชิกทั้ง 8 บริษัทมียอดขายเครื่องมือแพทย์รวมแล้วสูงขึ้นมากถึง 50 เท่า

เมื่อครั้งแรกเริ่ม SESSA ก่อตั้งโดยพันธมิตรทั้งหมด 5 บริษัท โดยเลือกสมาชิกที่มีองค์ความรู้ในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน เพื่อให้สมาชิกแต่ละรายสามารถนำจุดแข็งของบริษัทมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยมีจุดมุ่งหมายในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงทักษะการผลิตชิ้นงานระดับ Ultra Precisions 

หลังจาก SESSA ก่อตั้งขึ้นแล้ว ทางบริษัทฯ ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น และพัฒนาเข็มตรวจสอบภายใน (Biopsy Needle for Endoscopes) ซึ่งใช้เข็มขนาด 1.1 มิลลิเมตรในการเก็บรอยโรค (Lesion) หรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ซึ่งเมื่อเจาะเข้าไปในร่างกายแล้ว ปลายเข็มจะเปิดออกและตัดเนื้อเยื่อออกมา ซึ่งด้วยขนาดของเครื่องมือนี้ ทำให้ปากแผลมีขนาดเล็กมาก และแม่นยำมากกว่าการเก็บเนื้อเยื่อด้วยวิธีการทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง

ทางบริษัทฯ ระบุว่า เดิมทีแนวคิดผลิตภัณฑ์นี้มีมานานแล้ว แต่ด้วยขนาด 1.1 มิลลิเมตร ทำให้มีปัญหาเรื่องความทนทาน และไม่สามารถผลิตจริงได้ อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ทางทีมพัฒนาได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้จากความร่วมมือกับ SME ผ่านเครือข่าย SESSA ซึ่งมีทักษะในการทำงานสเตนเลสสูง

“หัวใจสำคัญที่ทำให้สมาชิก SESSA มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ 
การลดความสำคัญของ ‘แบรนด์ตัวเอง’ ลง และให้ความสำคัญกับ ‘แบรนด์ส่วนรวม’ มากขึ้น 
พร้อมกับการไม่รับออเดอร์จากลูกค้ารายเดียวกัน”

Mr. Keita Suzuki เล่าต่อว่า ที่ผ่านมา แต่ละบริษัทรับผลิตแบบ ODM เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จุดที่ SME เสียเปรียบคือ ชื่อบริษัทไม่เป็นที่รู้จักเท่าธุรกิจรายใหญ่ แม้จะพัฒนาสินค้าออกมาได้ ก็ต้องใช้เวลาจึงจะสามารถทำกำไร ซึ่งการลดความสำคัญของแบรนด์ตัวเองลง แล้วหันมาเน้นแบรนด์ส่วนรวมเพียงแบรนด์เดียว สามารถช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการทำตลาดได้เป็นอย่างมาก ทำให้สามารถเพิ่มความสำคัญกับการผลิตได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการไม่รับออเดอร์จากลูกค้ารายเดียวกันนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาระหว่างสมาชิก เช่น บริษัทหนึ่งอาจได้กำไรสูงกว่าในยอดสั่งซื้อที่เท่ากัน และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในเครือข่าย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด นอกจากการแชร์ข้อมูลสั่งซื้อแล้ว สมาชิกยังแบ่งบันข้อมูลการผลิต และเทคโนโลยีที่ได้รับ เพื่อยกระดับองค์ความรู้โดยรวมให้มากขึ้น

ปัจจุบัน SESSA มีกำหนดการเปิดตัวในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากการรวมตัวของกลุ่ม SME สามารถนำมาซึ่งการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเองออกสู่ตลาดโลกได้ จะเป็นการต่อยอดให้การสร้างเครือข่างพันธมิตรนำสู่การสร้างช่องทางการขายที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

 

อ่านต่อ