ค่าแรงขั้นต่ำ คือ คำตอบ หรือ กับดัก, ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท, ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง, Kulchoke Popattanachai Managing Director A.I.Technology, กุลโชค โพธิ์พัฒนชัย กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. และ บริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด

“ค่าแรงขั้นต่ำ” คือ คำตอบ หรือ กับดัก?

อัปเดตล่าสุด 6 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 4,049 Reads   

หากจะพูดว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ถูกยกให้เป็นเรื่องสำคัญมายาวนาน ควบคู่กับการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ของประเทศไทย บทความนี้จะชวนขบคิดว่า การมุ่งเน้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นคำตอบให้คนไทยมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นหรือไม่

นายกุลโชค โพธิ์พัฒนชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. และ บริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด (A.I.TECHNOLOGY CO., LTD.) ผู้ผลิตและออกแบบเครื่องจักรอัตโนมัติ และ Automation Solution ระดับแนวหน้าของไทย สะท้อนมุมมองในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ ติดตามในบทความนี้

กลุ่มประเทศรายได้สูง VS กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

นายกุลโชค นำเสนอฉากทัศน์ของ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ผ่านการเปรียบเทียบระหว่าง “กลุ่มประเทศรายได้สูง” กับ “กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ” ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

“กลุ่มประเทศรายได้สูง” หรือที่เรียกกันติดปากว่าประเทศที่เจริญแล้ว ล้วนเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าประเทศอื่น ผ่านการมุ่งพัฒนาคนให้เก่ง มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีบริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก เพื่อคว้าโอกาสในตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก

ในขณะที่ “กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ” รัฐบาลของกลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากไปกับภาระในการดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีรายได้ต่ำ การกำหนด “ค่าแรงขั้นต่ำ” กลายเป็นเครื่องมือที่จะรับประกันรายได้ของประชากรส่วนใหญ่ ธุรกิจจำนวนมากยังอาศัยความได้เปรียบของต้นทุนแรงงานเป็นตัวแข่งขัน และมีบริษัทชั้นนำที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกไม่มากนัก

บริษัทชั้นนำของไทยไม่มีพนักงานในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 

นายกุลโชค เน้นย้ำฉากทัศน์ของประเทศไทยที่อยู่ในจุดตัดสินใจว่าจะไปต่ออย่างไร จะก้าวขึ้นไปแข่งขันด้วยเทคโนโลยี “สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง” หรือ “ย่ำอยู่ที่เดิม” 

แม้ประเทศไทยจะมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แต่อุตสาหกรรมที่ไทยสามารถยืนอยู่บนเวทีการค้าโลกนั้นมีเพียงไม่กี่กลุ่ม เช่น อาหาร กระดาษ ปุ๋ย ยานยนต์ ซึ่งในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีผู้เล่นแถวหน้าเพียงไม่กี่ราย เราอาจมองมันเหมือน 20/80 Rule ก็ว่าได้ นั่นคือ ธุรกิจที่แข่งขันได้ของไทยมีเพียง 20% 

“ทุกคนรู้ดีว่า 20% นี้คือบริษัทชั้นนำของไทยที่ไม่มีพนักงานในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ที่สำคัญบริษัทเหล่านี้คือสถานที่ทำงานในฝันของคนส่วนใหญ่ เพราะเงินเดือนสูง มีโอกาสพัฒนาตัวเองและเติบโต สวัสดิการเพียบพร้อม สภาพแวดล้อมและสังคมดี”

ในอีก 80% ที่เหลือคือ ธุรกิจที่อ่อนแอ แข่งขันไม่ได้ ยังหากินกับต้นทุนแรงงานต่ำ จึงต้องจ้างพนักงานในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

“ธุรกิจที่อ่อนแอ” จะเก่งขึ้นได้อย่างไร 

ธุรกิจที่อ่อนแอจำเป็นต้องวิเคราะห์ตัวเอง โดยเฉพาะด้านผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการหรือไม่ แนวคิดคือ ต้องเป็นสินค้าที่ใช้ตลาดขับเคลื่อน (Market-driven) หากคำตอบคือใช่ นั่นคือธุรกิจยังมีโอกาส มีทางรอด 

สิ่งที่ต้องทำถัดมาคือการปรับปรุงและพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อขจัดข้อด้อย ทั้งเรื่องคน เทคโนโลยี คุณภาพ และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความอ่อนด้อยเหล่านี้มีอยู่ในธุรกิจจำนวนมากของไทย ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 

นายกุลโชค ไล่เรียงจิ๊กซอว์เหล่านี้ให้เห็นภาพชัดว่า “คนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ ตั้งแต่หัวขบวนจนถึงท้ายขบวน ทุกคนเก่ง คือ หัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ” 

ในขณะที่ “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” นั้นอาจเป็นเพียงนโยบายที่ฉาบฉวย หากไม่ได้ประเมินรอบด้าน เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้กระทบแค่พนักงานที่ได้ค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น แต่กระทบกระบอกเงินเดือนทั้งระบบ นั่นคือตั้งแต่ผู้ที่มีฐานเงินเดือนต่ำสุดจนสูงสุด ทำให้ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละครั้งส่งผลต่อต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มขึ้น 30-40% ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น การหา “อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่พอดี” แรงงานอยู่ได้ ธุรกิจอยู่รอด คือจุดใด 

นายกุลโชคยังได้นำเสนอสองดัชนีชี้วัดประเทศไทยในเวทีโลก นั่นคือ “ดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านต้นทุน” หรือ Cost Performance Index (CPI) และ “ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน” หรือ Competitiveness Index เพื่อจะนำมาร่วมพิจารณาในเรื่องค่าแรงที่เหมาะสม และผลักดันการพัฒนาคนให้เก่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีภาพชัดเจนในด้านนี้ โดยแนะนำให้สนับสนุนตรงจุดถูกคน เช่น มาตรการอุดหนุนเงินหรือลดหย่อนภาษีโดยตรงให้แก่บริษัทหรือแรงงานเพื่อส่งเสริมการการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากร

แน่นอนว่า นายกุลโชคให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ทำให้กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. มุ่งสู่ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” (Learning Organization) เสริมทักษะใหม่ ๆ สำหรับ Industry 4.0 และ Digitalization รวมถึง Generative AI มาอัปสกิลให้พนักงาน รวมถึงความร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation & Robotics Association) หรือ TARA จัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อส่งเสริมด้านบุคลากรภาคอุตสาหกรรม

 

อ่าน : เปิดใจ “กุลโชค โพธิ์พัฒนชัย” หัวเรือใหญ่ A.I. Group ฝ่ามรสุมโควิด-19 ที่ยาวนานเกินคาด

 

#aitech #aitechnology #Automation #Thailand #MiddleIncome #ค่าแรงขั้นต่ำ #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH