A.I. Technology ตอบประเด็น “หุ่นยนต์และออโตเมชั่นไทย” ขึ้นผู้นำอาเซียน ปี 2569

ฟังเสียง A.I. Technology ตอบประเด็น “หุ่นยนต์และออโตเมชั่นไทย” ขึ้นผู้นำอาเซียน ปี 2569

อัปเดตล่าสุด 13 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 4,207 Reads   

เมื่ออุตสาหกรรมหุ่นยนต์และออโตเมชั่นไทยปักหมุดขึ้น 'ผู้นำอาเซียน' ภายในปี 2569 เป้าหมายนี้จะเป็นไปได้แค่ไหน ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการด้านการบูรณาการระบบอัตโนมัติ (Automation System Integration)

กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี (A.I. Technology Group) นายกุลโชค โพธิ์พัฒนชัย ประธานบริษัทและซีอีโอ เผยมุมมองต่ออุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทยในปัจจุบัน พร้อมความเป็นไปได้ และข้อเสนอแนะที่จะทำให้ไทยมีโอกาสคว้าเป้าหมายที่ปักหมุดไว้

โดยนายกุลโชคแสดงความเห็นว่า การมองเรื่องนี้จำเป็นต้องแยกระหว่างหุ่นยนต์และออโตเมชั่น เนื่องจากพื้นฐานที่เรามีอยู่และปัจจัยแวดล้อมที่จะผลักดันสู่เป้าหมายของสองส่วนนี้แตกต่างกัน 

“ออโตเมชั่น” มีลุ้น ขึ้นแท่น “ผู้นำอาเซียน”

นายกุลโชค แสดงความมั่นใจว่า ในฝั่งของระบบอัตโนมัติ หรือ ออโตเมชั่นนั้น ความสามารถและระดับเทคโนโลยีของ System Integrator (SI) ซึ่งก็คือผู้ประกอบการด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติของไทยเราไม่เป็นรองใคร 

อีกทั้งผู้ประกอบการไทยยังมีการส่งออกระบบอัตโนมัติไปยังหลายประเทศอยู่แล้ว ทั้งในแถบอาเซียน อินเดีย ปากีสถาน และยุโรปตะวันออก

ดังนั้น หมุดหมายการเป็นผู้นำอาเซียนสำหรับระบบอัตโนมัติจึงเป็นเป้าหมายที่เราน่าจะฝากความหวังไว้ได้มากทีเดียว

แม้ว่าในแถบอาเซียนอาจจะมีบางประเทศที่ก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ก็ตามที แต่ก็ขาดด้านฮาร์ดแวร์ซึ่งก็คือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบออโตเมชั่นที่ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับไทยได้ จึงทำให้ออโตเมชั่นไทยมีศักยภาพและเข้มแข็งกว่าประเทศอื่น ๆ ในแถบนี้

โดยบริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี ก็เป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จในการออกแบบและสร้างระบบออโตเมชั่นป้อนสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเฉพาะด้วย เช่น ในไลน์ผลิตของโรงงานกุ้งแห้งที่เราออกแบบและสร้างเครื่องจักรให้นั้น ไม่เพียงแต่เป็นกระบวนการอัตโนมัติ แต่ยังนำเทคโนโลยีเอไอ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยคัดเลือกกุ้งแห้งอีกด้วย

“หุ่นยนต์” มีโอกาส แต่ยาก

ในฝั่งของหุ่นยนต์นั้น นายกุลโชคแสดงความเห็นว่า อาจต้องมองละเอียดขึ้น หากเป็นการนำเข้าชิ้นส่วน CKD (Complete Knocked Down) มาประกอบหุ่นยนต์ให้กับแบรนด์อื่นแล้วส่งออกไป แนวทางเช่นนี้ก็คือการมองหาหุ้นส่วนธุรกิจ ไทยจะร่วมกับใครได้บ้างเพื่อตั้งโรงงานผลิตหุ่นยนต์ป้อนภูมิภาคนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ไม่ยากนัก แต่มีข้อแม้ว่า เราต้องทำ Cost Competitive ให้ได้ โดยจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้จากค่าแรงและภาษี 

แต่หากเป็นการผลิตหุ่นยนต์ด้วยแบรนด์ตัวเอง ประเด็นสำคัญคือความพร้อมของอุตสาหกรรมไทย มี know-how มีความรู้ที่จะมาผลิตและออกแบบโรบอท รวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น เซอร์โวมอเตอร์ คอนโทรลเลอร์ หรือไม่ หรือจะ sourcing ชิ้นส่วนจากต่างประเทศ มาบริหารซัพพลายเชนผลิตเป็นหุ่นยนต์ออกไป 

การจะประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการเอาจริงเอาจัง และต้องวิเคราะห์ financial ถ้าทำแล้วดี ได้ประโยชน์ ก็ต้องวางแผนอย่างละเอียด จึงจะเกิดขึ้นได้จริง

โดยตลาดหุ่นยนต์นั้นเป็นการแข่งขันระดับโลก ซึ่งมีผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งในยุโรป เอเซีย และจีน หากไทยคิดจะลงสนามนี้ก็ต้องมาดูว่า เราจะอยู่ตำแหน่งไหนของการแข่งขัน จะเลือกลูกค้ากลุ่มใด ต้องวิเคราะห์ตรงนี้ด้วย ถ้าทำแล้วเราอยู่เบอร์ 1 เบอร์ 2 ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่วิเคราะห์แล้วเดินเลยก็มีความเสี่ยง

ทำไม “จีน” จึงประสบความสำเร็จขึ้นเป็นผู้เล่นรายใหญ่

ในบรรดาประเทศผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่นั้น จีนเป็นผู้เล่นที่ติดอันดับโลกในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้ โดยนายกุลโชค ได้วิเคราะห์ว่าปัจจัยหลัก ๆ ที่ช่วยให้จีนประสบความสำเร็จเรื่องนี้ ได้แก่

1. จีนมีทิศทางของนโยบายที่ชัดเจน
2. Domestic market ตลาดในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ สร้าง volume ได้ จึงสามารถทำราคาที่เหมาะสมได้ 
3. มี know-how จากอุตสาหกรรมมอเตอร์และแผงวงจร และมี software engineer 

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของจีน เริ่มต้นจากการผลิตโรบอทระดับ entry ไม่ต้องมี accuracy มากนัก โรบอททำแอปพลิเคชันง่าย ๆ แค่ pick and place ซึ่งโรบอทประเภทนี้จะมีตลาดที่ต้องการใช้รองรับอยู่ จากนั้นจีนก็อาศัยเวลาค่อย ๆ พัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ที่มีความเร็วเพิ่มขึ้น มี accuracy ดีขึ้น

เดินหน้า “ไทย” สู่หมุดหมายปี 2569

ในด้านการผลักดันเป้าหมายนี้ นายกุลโชคได้เสนอแนะ 3 ข้อสั้น ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างมากไว้ว่า

“ข้อแรก ภาครัฐต้องมีทิศทางชัดเจน เพื่อให้นโยบายต่าง ๆ ออกมาในทิศทางเดียวกัน 
“ถัดมา เมื่อส่งเสริมแล้ว ต้องมีวิธีปฏิบัติที่เข้าใจง่าย ปฏิบัติง่าย”
“สาม คือ สปีด ต้องเร็ว”
 

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีนโยบายสร้าง SI ไทยให้เข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายปี 2564 นี้  ภาครัฐได้วางเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SI ในประเทศจาก 200 รายเป็น 1,400 ราย 

นอกจากนี้ ทางหน่วยงานบีโอไอก็มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทย โดยเฉพาะการบังคับใช้ local content 30/100 หรือ อย่างน้อย 30% นั้นมีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SI ไทย

อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่ Industry 4.0 ซึ่งประกาศออกมาช่วงเดือนตุลาคม 2564 ไม่มีการบังคับใช้ local content ก็สร้างความกังวลในหมู่ผู้ประกอบการ SI ซึ่งแน่นอนว่า SI ไทยจะอ่อนแอลง ขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะน้อยลงเช่นเดียวกัน 

โดย นายกุลโชค ได้ย้ำว่า ภาครัฐต้องเร่งความเร็วในการผลักดัน มิเช่นนั้นเราจะสูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศอื่น หากรัฐช้าไปหนึ่งวัน ย่อมหมายถึงโรงงานอีกหลายหมื่นโรงที่จะล่าช้าตามไปด้วย

ความคืบหน้าในการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ และผลกระทบจากโควิด-19

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดในปีที่ผ่านมา หลายประเทศต่างมีการลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่เสียไป และอีกส่วนเป็นการนำมาแทนที่พนักงานซึ่งจำเป็นต้องลดจำนวนลงตามมาตรการ Social Distancing

นายกุลโชค แสดงความเห็นว่า การระบาดของโควิดทำให้เกิด New Normal ซึ่งทั้งการ Work from Home และ Social Distancing นี้นำมาซึ่งสองสิ่ง หนึ่งคือการใช้คนน้อยลง และสองคือการเว้นระยะห่าง ทำให้โรงงานไม่อาจใช้คนจำนวนมากทำงานร่วมกันได้เช่นแต่ก่อน 

เมื่อคนน้อยลง การทำงานแบบเดิมจึงเริ่มไม่มีประสิทธิภาพ กระบวนการที่ทำด้วยคนก็ต้องเปลี่ยนเป็นทำด้วยเครื่อง การนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต จึงเป็นทิศที่ถูกบังคับให้ต้องเดินมาทางนี้

ปัจจุบันโรงงานต่าง ๆ ได้เริ่มนำออโตเมชั่นมาใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นแบบอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเกือบแทบทุกกระบวนการของการผลิตระดับ Industry 1.0 - 2.0 ไม่ว่าจะเป็น Incoming process,  sorting, storing, production, packing, warehouse ไปจนถึงติดตั้งระบบ AS/RS นี่คือในส่วนของโรงงาน ซึ่งทุกโรงงานเดินทิศนี้  

แม้ว่าการกระจายวัคซีนทำได้ดี ทำให้สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง แต่แนวโน้มการใช้ออโตเมชั่นก็จะยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแนวโน้มจะเป็นไปเช่นนี้หลังจากโควิดสิ้นสุดแล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตและการใช้แรงงานเริ่มเป็นประเด็นมากขึ้น ซึ่งยังไม่นับรวมปัญหาด้านแรงงานจากผลกระทบของกับดักรายได้ปานกลางของไทย

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ ความต้องการระบบออโตเมชั่นในไทยอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหลัก ในขณะที่กลุ่ม non-automotive ยังมีการใช้งานน้อย 

แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด ความต้องการระบบอัตโนมัติในกลุ่ม non-automotive เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร กระดาษ ปุ๋ย อุปกรณ์ก่อสร้าง เรียกได้ว่าเกือบทุกเซกเตอร์ที่ตลาดขยายตัวมีความต้องการการผลิตสูงก็หันมาสู่ออโตเมชั่นมากขึ้นเรื่อย ๆ  

ภาคบริการก็เป็นอีกเซกเตอร์ที่น่าจับตามอง เกือบทุกกระบวนการในการทำงานที่อยู่นอกอุตสาหกรรมเริ่มหันมาใช้ออโตเมชั่นมากขึ้น ไม่เว้นแม่แต่ในออฟฟิศ สร้างความต้องการหุ่นยนต์บริการ (Service Robot) ที่ใช้ส่งอาหารและยา ไปจนถึงระบบออโตเมชั่นเพื่อการจัดยาและจ่ายยาในโรงพยาบาล และแม้แต่ในสำนักงานก็นำออโตเมชั่นมาใช้ได้ เช่น Robotic Process Automation (RPA) ซึ่งเป็น IT โรบอทสำหรับงานออฟฟิศที่นำเทคโนโลยี Rule Engine, Image Recognition, Machine Learning และ AI เข้ามาใช้ ทำให้ IT โรบอทสามารถทำงานในคอมพิวเตอร์แทนมนุษย์ได้

และต่อจากนี้ คอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลเร็วขึ้น เมื่อรวมเข้ากับเทคโนโลยีเอไอ (Artificial Intelligence) ที่ชาญฉลาดขึ้น จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้การใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นยิ่งแพร่หลายขึ้น 

ชมคลิป ปักหมุด 2569 ผู้นำ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” อาเซียนตอน 1 

 

เกี่ยวกับ A.I. Technology Group 

 

#A.I.Technology #A.I.Group #A.I.Tech #หุ่นยนต์ #ระบบอัตโนมัติ #ออโตเมชัน #Automation #Industry 4.0 #อุตสาหกรรม 4.0 #อุตสาหกรรมการผลิต #ผู้ผลิตหุ่นยนต์ #หุ่นยนต์ ไทย #ระบบอัตโนมัติ ไทย #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม