โคบอทส์, ควมปลอดภัยในโรงงาน, โรบอท, หุ่นยนต์, ระบบอัตโนมัติ

5 ข้อต้องคิด “ใช้โคบอทส์อย่างไรให้ปลอดภัย”

อัปเดตล่าสุด 28 ธ.ค. 2566
  • Share :
  • 24,423 Reads   

แม้ว่า Cobots เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาให้ร่วมปฏิบัติงานกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย แต่ใช่ว่าจะปลอดภัย 100% เมื่อนำมาใช้งานจริงในโรงงาน จึงจำเป็นต้องพิจารณา 5 ข้อหลักนี้ร่วมด้วย ติดตามในบทความนี้ 

Cobots (โคบอทส์) หรือ หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน มาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า Collaborative Robots ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหุ่นยนต์ชนิดนั้ได้รับความสนใจมากขึ้นจากการนำไปใช้งานได้หลากหลาย และมีความปลอดภัยต่อพนักงาน”

Advertisement

สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของออโตเมชั่น หรือ A3 (Association for Advancing Automation) สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทความ “5 แนวคิดความปลอดภัยของโคบอทส์” โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. โคบอทส์ไม่ได้ปลอดภัย 100%

หลายคนเข้าใจผิดว่า โคบอทส์ปลอดภัยโดยสมบูรณ์ แต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น

นาง Roberta Nelson Shea เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติตามมาตรฐานด้านเทคนิค บริษัท Universal Robots แนะนำว่า การตัดสินใจซื้อโคบอทส์ควรคำนึงถึงความยืดหยุ่นที่จะได้รับจากการทำงานร่วมกันเป็นหลัก และต้องประเมินความเสี่ยงโดยไม่จำกัดว่าการนำไปใช้งานนั้นเป็นการทำงานร่วมกับมนุษย์หรือไม่

นาย Morten Kühnrich ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความปลอดภัยจาก OnRobot อธิบายว่า ความเข้าใจผิดที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับความปลอดภัยของโคบอทส์ คือ เพียงติดตั้งโคบอทส์เข้ากับอุปกรณ์ปลายแขนหุ่นยนต์ (End effector) หรือเครื่องจักรแล้วโคบอทส์ก็จะทำงานได้อย่างปลอดภัย ไร้ความเสี่ยง ซึ่งในความเป็นจริงผู้ใช้ต้องประเมินความเสี่ยงก่อนติดตั้งโคบอทส์ในโรงงาน

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตหลายรายต่างมีการพัฒนาโคบอทส์ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีตรวจจับการชน โคบอทส์แบบ Safety monitored stop ที่จะหยุดการทำงานเมื่อมีพนักงานเข้าไปในพื้นที่รั้วกั้น ไปจนถึงระบบจำกัดแรง อีกทั้งโคบอทส์ยังมีขอบโค้งมน และลดจุดหนีบตามข้อต่อให้น้อยที่สุดอีกด้วย
นอกจากนี้ โคบอทส์ยังมีแนวโน้มที่จะมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่าแขนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ทำให้โคบอทส์มีความเสี่ยงต่ำกว่าหากเกิดการกระแทกกับพนักงานนั่นเอง

 

2. การใช้โคบอทส์ประเมินความเสี่ยงให้ครอบคลุม

โคบอทส์เป็นแพลตฟอร์ม ดังนั้น หากต้องการนำไปใช้งานเฉพาะด้านจะต้องมีการติดตั้ง end-effector ที่เหมาะสม ซึ่งการประเมินความเสี่ยงต้องครอบคลุมในส่วนนี้ด้วย

3. การใช้โคบอทส์ต้องคำนึงถึงการนำไปใช้งานด้วย

นาย Eric Potter ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปและยานยนต์ บริษัท FANUC America กล่าวว่า  โคบอทส์ช่วยให้มนุษย์และหุ่นยนต์ทำงานในพื้นที่เดียวกันได้อย่างปลอดภัย แต่เป็นหน้าที่ของผู้ใช้และ SI ที่ต้องทำให้แน่ใจว่าการทำงานร่วมกันนี้ปลอดภัยจริง และอธิบายว่าแม้จะติดตั้งโคบอทส์ แต่ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการผลิตนั้นนั้นจะเป็นกระบวนการที่มนุษย์และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า หากโคบอทส์หรือหุ่นยนต์อื่น ๆ ถือมีด ย่อมหมายความว่ากระบวนการนั้นไม่ปลอดภัย พร้อมย้ำว่าสิ่งที่ควรระวังไม่ได้มีแต่หุ่นยนต์ แต่เป็นเครื่องมือที่ติดตั้งกับหุ่นยนต์ด้วย

นาย Kühnrich จาก OnRobot มีความเห็นตรงกัน และเสริมว่าอีกสิ่งที่มักถูกมองข้าม คือ ชิ้นงาน เนื่องจากของมีคมเป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเคลื่อนไหวอยู่ในระดับศีรษะ จึงต้องระวังชิ้นงานที่โคบอทส์หยิบจับด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระจก, ชิ้นงานมีคมจากเครื่อง CNC, โลหะแผ่นที่ออกมาจากเครื่องเพรส, และอื่น ๆ

 

4. มนุษย์กับโคบอทส์ ไม่ได้ทำงานในรั้วเดียวกันได้เสมอไป

อีกความเข้าใจผิด คือ มนุษย์สามารถทำงานกับโคบอทส์ได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องติดตั้งรั้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วมีปัจจัยที่ต้องคำนึงมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงาน ความเร็วและแรงที่แขนหุ่นยนต์เคลื่อนที่ น้ำหนักของชิ้นงาน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรอื่น ๆ ไปจนถึงความเสี่ยงที่อาจอยู่ในรูปแบบการนำไปใช้ เช่น งานหยิบจับสารพิษ หรืองานที่สามารถก่อให้เกิดประกายไฟ

5. การประเมินความเสี่ยงก่อนติดตั้ง

เมื่อปี 2016 องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานได้ออก ISO/TS 15066 ซึ่งระบุข้อกำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับโคบอทส์ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานอย่างปลอดภัย รวมถึงภาคผนวกสำหรับ Power and Force Limiting (PFL) เพื่อลดความเสี่ยงจากโคบอทส์ให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งนาง Nelson Shea จาก Universal Robots และหนึ่งในคณะกรรมการผู้ร่าง ISO ฉบับนี้ อธิบายว่า สิ่งสำคัญคือ โคบอทส์จะต้องมีแรงหนีบไม่มากไปกว่า “การทำให้เริ่มเจ็บ” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเจ็บปวดหรืออาการบาดเจ็บต่อมนุษย์

นาย Potter จาก FANUC America เสริมว่า บริษัทที่เริ่มลงทุนระบบอัตโนมัติควรจ้างผู้เชี่ยวชาญให้รับผิดชอบการประเมินความเสี่ยงก่อนนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ครั้งแรก หรือ 2 - 3 ครั้งแรก แล้วจึงเปลี่ยนมาประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเองในภายหลัง

 

 

#Cobots #โคบอทส์ #ความปลอดภัยในโรงงาน #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH